กษัตริย์คือ (อะ) ไร?: หนังสือภาพทะลุเพดานจินตนาการ ทำความรู้จักสิ่งมีชีวิตในนิทานปรัมปรา

กษัตริย์คือ (อะ) ไร?: หนังสือภาพทะลุเพดานจินตนาการ ทำความรู้จักสิ่งมีชีวิตในนิทานปรัมปรา

-1-

นี่คือหนังสือภาพสำหรับเด็ก

งานภาพจึงเป็นอาหารจานหลักของหนังสือเล่มนี้ เพราะมุ่งเป้าสื่อสารกับผู้อ่านที่เป็นเด็กและเยาวชนซึ่งยังไม่เป็นมิตรกับตัวอักษรมากนัก

ภาพวาดแบบเด็กๆ และภาพตัดปะ (collage) ของบรรดาตัวละครต่างๆ ที่ดูตลกขบขันจากฝีมือ นิกา ดูบรอฟสกี (Nika Dubrovsky) ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวและปลุกเร้าจินตนาการได้เป็นอย่างดี

เฉกเช่นหนังสือภาพทั่วๆ ไปที่นำพาเด็กๆ กระโจนเข้าสู่โลกของสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดในเทพนิยาย ตั้งแต่เทวดา นางฟ้า พ่อมด มังกร ช้างบินได้ ไปจนถึงไดโนเสาร์ กษัตริย์คือ (อะ) ไร?: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน (2563) ก็มีหน้าที่ดุจเดียวกัน เพียงแต่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘กษัตริย์’ (และญาติโกโหติกาของเขา)

 

-2-

เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) ผู้เขียน และดูบรอฟสกี ภรรยาของเขา คงจะรู้สึกไม่มากก็น้อยว่า สำหรับเด็กๆ ที่เกิดในสังคมที่ไม่มีกษัตริย์ดำรงอยู่แล้ว กษัตริย์อาจเป็น ‘อะไร’ ที่ห่างไกลจากชีวิต ดูลึกลับ และต้องใช้จินตนาการในการทำความเข้าใจ เด็กบางคนอาจไม่เชื่อด้วยซ้ำว่า กาลครั้งหนึ่งเคยมีกษัตริย์อยู่บนโลกใบนี้จริงๆ

นี่คงเป็นสาเหตุให้พวกเขาจับงานวิชาการหนักๆ เรื่อง On Kings (2017) มาแปลงโฉมเป็นนิทานสอนเด็ก โดยหนังสือต้นฉบับเป็นหนังสือชิ้นเอกที่เกรเบอร์เขียนร่วมกับ มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาชื่อดัง

กษัตริย์คือ (อะ) ไร? พยายาม ‘เอดูเขต’ เด็กๆ ว่า สิ่งมีชีวิตในตำนานเหล่านี้ไม่เพียงมีตัวตนจริงๆ แต่ยัง (เคย) มีอำนาจล้นฟ้าประหนึ่งเทพเจ้าในร่างมนุษย์

พวกเขาแต่งตัวด้วยชุดอันวิจิตรพิสดาร กินหรูอยู่สบาย ทั้งยังสามารถสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามแม้จะประหลาดเพียงใด อาทิ “ห้ามกินข้าวโพดเวลาฝนตก” “จงกินปลาทุกๆ วันศุกร์” หรือ “จงหมอบกราบ ห้ามมองหน้า” แต่กษัตริย์เองกลับไม่จำเป็นต้องทำตามกฎเหล่านี้หรอก

เด็กๆ อาจสงสัยว่า แล้วชีวิตอันน่าอภิรมย์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกรเบอร์เขียนไว้ชัดเจนว่า พวกเขาเองก็ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องหยุดคาดเดา กล่าวคือทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงแค่เกมของคนในอดีต

“พวกเขาอุปโลกน์ใครคนหนึ่งขึ้นมา และทุกคนที่เหลือก็จะต้องทำทุกอย่างตามที่คนนั้นพูดจนกว่าคนนั้นจะตายจากไป ต่อจากนั้นพวกเขาก็จะปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกันนี้กับลูกชายหรือบางครั้งก็อาจเป็นลูกสาวของเขาต่อไปเรื่อยๆ”

(หน้า 4)

 

-3-

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือกษัตริย์ที่แท้จริง?

พวกเขามีข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ และที่อยู่อาศัยอันวิลิศมาหรา เพื่อบ่งบอกสถานะอันพิเศษของตน เช่น คทา มงกุฎ ปราสาทราชวัง ฯลฯ และพวกเขาจะไม่ยอมแบ่งให้คนอื่นๆ ใช้งานของเหล่านี้เด็ดขาด บริเวณรอบบ้านของเขาจึงต้องมีราชองครักษ์คอยพิทักษ์ทรัพย์สิน รวมถึงความปลอดภัย

แต่ก็เพราะสมบัติพัสถานเหล่านี้แหละที่เป็นชนวนเหตุให้กษัตริย์ของแต่ละอาณาจักรในอดีตทำสงครามรบพุ่งกัน ก็ใครกันเล่าสามารถช่วงชิงหรือขโมยของล้ำค่าในการครอบครองของกษัตริย์ได้ หากมิใช่คนในชนชั้นเดียวกัน

 

-4-

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ใครหลายคนอาจเคยจินตนาการว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายหรือเป็น ‘ลูก’ อย่างไม่เป็นทางการของกษัตริย์ แต่การที่มนุษย์ทุกคนจะสืบเชื้อสายจากกษัตริย์เสมอหน้ากันนั้นเป็นเป็นไปได้จริงๆ หรือ?

“คำตอบก็คือ ไม่มีทางเพราะถ้าทุกคนเป็นกษัตริย์ แล้วใครเล่าจะเป็นผู้ถูกปกครอง”

(หน้า 103)

เพราะไม่ใช่ใครก็เป็นกษัตริย์กันได้ เราจึงเรียกขานคนธรรมดาทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่กษัตริย์ว่า ‘สามัญชน’ ซึ่งไม่มีคุณลักษณะพิเศษพิสดารมากเท่ากับกษัตริย์ ตัวอย่างเช่นร่างกายอันศักดิ์สิทธิ์ 

กษัตริย์ที่แท้จริงจะต้องมีเลือดสีน้ำเงินหรือ ‘เลือดเจ้า’ ไหลเวียนอยู่ทั่วร่าง ดังนั้นหากลองกรีดแขนดูแล้วพบว่าเลือดยังเป็นสีแดง คุณก็หมดสิทธิจะจินตนาการฝันเฟื่องจนพูดจาส่งเดชว่าตนเป็นลูกของพระราชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

 

 -5-

สามัญชนอาจมีชีวิตอยู่เพื่อจุดประสงค์เดียวก็คือ ทำทุกอย่างที่กษัตริย์ต้องการ 

เราจะต้องทำความเคารพด้วยการกราบไหว้หรือหมอบคลาน เพื่อย้ำเตือนว่ากษัตริย์ยิ่งใหญ่เพียงใด มิฉะนั้นพวกเขาอาจหลงลืมสิ่งนี้จนคิดว่า ตนเป็นคนปกติธรรมดา

สามัญชนยังจะต้องดูแลความเป็นอยู่และอาหารการกินของกษัตริย์และราชสำนักอีกด้วย ซึ่งรวมถึงครอบครัว ที่ปรึกษา คนรับใช้ และบรรดานายทหารจำนวนมาก สิ่งมีชีวิตพิลึกพิลั่นเหล่านี้ล้วนต้องกินอาหารและต้องการข้าวของเครื่องใช้ที่พิเศษกว่าคนปกติ ซึ่งนั่นไม่ใช่ภาระรับผิดชอบของใครอื่นนอกจากสามัญชน

แม้จำเป็นต้องพึ่งพาชาวบ้านอย่างมาก แต่กษัตริย์และพระราชวงศ์ก็มักแสร้งทำเป็นว่า ตัวพวกเขานั้นสมบูรณ์แบบและไม่ต้องการสิ่งใดๆ จากใครคนอื่น

เมื่อถึงตรงนี้ เกรเบอร์ก็รับบท ‘เจ้าหนูจำไม’ ว่า

“สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้กษัตริย์ดูคล้ายเด็กหรอกหรือ?”

(หน้า 35)

 

-6-

ไม่ว่าจะแห่งหนใด ผู้คนมักจะเรียกร้องให้เทพเจ้าดลบันดาลสุขภาพ ความปลอดภัย ชีวิตที่ดี และความยุติธรรม และเมื่อเชื่อกันว่ากษัตริย์เปรียบประหนึ่งเทพเจ้าแล้ว พวกเขาก็จะเคารพบูชาและขอสิ่งต่างๆ จากกษัตริย์ด้วย

การดำรงอยู่ของกษัตริย์จึงมีความสำคัญมากสำหรับชีวิตของสามัญชน หากพระองค์ป่วยหรือมีปัญหาทางสุขภาพ คนก็เชื่อกันว่าแผ่นดินทั้งแผ่นดินจะอ่อนแอตามไปด้วย พวกเขาจึงพากันอวยพรว่า “long live the king”

ดังนั้น กษัตริย์แทบไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ พระองค์เพียงแค่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่ผู้คนยังเชื่อว่าพระองค์มีอำนาจล้นฟ้าและสามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆ ได้

 

-7-

ย้ำอีกครั้ง นี่คือหนังสือภาพสำหรับเด็ก

แม้เนื้อหาที่เป็นตัวอักษรในความรับผิดชอบของเกรเบอร์จะชวนตั้งคำถามสำคัญหลายประการ แต่อีกหนึ่งองค์ประกอบหลักก็ยังคงเป็นศิลปะ collage ของนิกา ดูบรอฟสกี

ภาพตัวละครและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี เพื่อให้เยาวชนที่เติบโตมาในโลกไร้กษัตริย์สามารถทำความเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นนักว่า กษัตริย์คืออะไร

ผมอยากจะยกภาพหน้าปกฉบับแปลไทยให้เป็นศิลปะที่ทรงคุณค่า เพราะเล่นกับจินตนการผู้อ่านได้ชะงัดนัก นั่นคือภาพของสิ่งมีชีวิตลึกลับร่างกายสีฟ้าปรากฏกายท่ามกลางฉากหลังสีขาว นัยน์ตาทั้งสองไม่ได้มองตรงมายังผู้อ่าน แต่กำลังจับจ้องหรือเหลือบมองอะไรบางอย่าง บนร่างกายของเขามีตัวอักษรซึ่งเป็นชื่อหนังสือพาดทับ

แรกเห็นอาจคิดว่าภาพนี้มีความ ‘มินิมอล’ ที่น้อยแต่มาก ทว่าความรู้สึกต่อมากลับฟ้องว่า มีบางสิ่งมากหรือล้นเกินไปสักนิด แต่ก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่า องค์ประกอบใดในภาพที่สามารถถูกตัดออกไปได้โดยไม่ทำให้ความหมายสำคัญหายไป จะเป็นเจ้าตัวนั้น ฟ้อนท์ชื่อเรื่อง กษัตริย์คือ (อะ) ไร ลูกกะตาที่ไม่รู้เหลือบ (มองอะ) ไร หรือจะเป็นคำในวงเล็บ

 

กษัตริย์คือ (อะ) ไร?: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน

เดวิด เกรเบอร์ และนิกา ดูบรอฟสกี เขียน

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ แปล

พนา กันธา บรรณาธิการแปล

สำนักพิมพ์ ILLUMINATIONS

author

Random books