เจน เจคอบส์ นักคิดผู้พลิกชีวิตเมือง: เมื่อผังเมืองหลงลืมผู้คน

เจน เจคอบส์ นักคิดผู้พลิกชีวิตเมือง: เมื่อผังเมืองหลงลืมผู้คน

“หนังสือนี้เป็นการโจมตีการวางผังเมืองและแผนฟื้นฟูเมืองขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน” 

ประโยคขึงขังนี้ไม่ได้มาจากหนังสือ เจน เจคอบส์ นักคิดผู้พลิกชีวิตเมือง (Genius of Common Sense: Jane Jacobs and Story of The Death and Life of Great American Cities) ที่เขียนโดย เกล็นนา แลง (Glenna Lang) และ มาร์จอรี วูนช์ (Marjory Wunsch) เมื่อปี 2009 แต่มาจากประโยคเกริ่นนำในหนังสือ ความตายและความเป็นของมหานครอเมริกา (The Death and Life of Great American Cities) ซึ่งถูกหยิบยกมาไว้ในหนังสือที่เล่าถึงอัตชีวประวัติของ ‘เจน เจคอบส์’ และแนวคิดของเธอได้อย่างน่าสนใจ ในฉบับการแปลของสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน

แนวคิดของเจคอบส์มีศัตรูที่ชัดเจน คือกลุ่มแนวคิดกระบวนการฟื้นฟูเมือง (Urban Renewal) กลุ่มแนวคิดเรเดียนท์ซิตี้ (Radiant City) และกลุ่มแนวคิดการ์เด้นซิตี้ (Garden City) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลต่อโครงการก่อสร้างและบริหารเมืองขนาดใหญ่ในนครรัฐนิวยอร์ก จนทำให้เธอต้องเป็นศัตรูกับผู้มีอำนาจและเหล่านักสถาปัตยกรรมจำนวนมาก เนื่องจากแนวคิด ‘พื้นที่ผสมผสาน’ (Mixed-Uses) ของเธอยังเป็นสิ่งใหม่ ทำให้เธอต้องใช้เวลายาวนานหลายทศวรรษกว่าแนวคิดนี้จะเริ่มได้รับความนิยมเป็นวงกว้างจากสังคม 

ในสภาวะที่เมืองมักถูกพูดถึงแต่ในแง่การพัฒนา การทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ การไล่ที่เพื่อจัดระเบียบ ไปจนถึงสร้างศูนย์การค้าหรือพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ขึ้นมาแทนเพื่อหวังให้เมือง ‘เจริญ’ ขึ้นนั้น เจน เจคอบส์ คือวีรสตรีผู้ต่อสู้กับแนวคิดทุบทำลายเหล่านี้ เพื่อดึงให้เมืองยังคงเป็นเมืองที่ ‘อยู่คู่กับคน’ และสามารถผสมผสานความหลากหลาย ความปลอดภัย และวิถีชีวิตของประชาชนทุกคนได้อย่างยั่งยืน 

เจน เจคอบส์ นักคิดผู้พลิกชีวิตเมือง เขียนโดย Lang และ Wunsch แปลเป็นภาษาไทยโดย ณัฐธีร์ ฤทธิเดชเกรียงไกร ในนามสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน จึงนับเป็นหนังสือมีคุณค่าที่จูงมือผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวการต่อสู้ของชาวเมืองนิวยอร์กในอดีต ขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนที่พบพานได้ในประเทศล้าหลังอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

จากครรภ์มารดาสู่กลางเมืองนิวยอร์ก เด็กสาวผู้ถูกเมืองเรียกหา

ก่อนจะใช้นามสกุล ‘เจคอบส์’ เธอมีนามสกุลเดิมคือ ‘บัตซ์เนอร์’ (Butzner) ซึ่งมีพื้นเพมาจากเมืองสแครนตันที่มีเหมืองถ่านหินแอนทราไซต์คุณภาพดีที่สุด เธอลืมตาดูโลกในปี 1916 และเรียนในโรงเรียนที่อยู่ห่างจากบ้านออกไปเพียงไม่กี่บล็อก ชีวิตวัยเด็กที่รักอิสระทำให้ความซุกซนของเธอไม่ค่อยเป็นที่พอใจจากบรรดาครูมากนัก แต่นอกเหนือจากความซุกซนแล้ว เธอยังเป็นนักอ่านรุ่นเยาว์ ซึ่งภายหลังได้ส่งผลต่อการมองโลกของเธอเป็นอย่างมาก

เมื่ออายุ 7 ขวบ เจคอบส์เคยถูกพักการเรียน 1 วัน เนื่องจากไม่ยอมยกมือในชั้นเรียนเพื่อสัญญาว่าจะแปรงฟันทุกวันไปตลอดชีวิต จนทำให้นักเรียนอีกหลายคนเลียนแบบเธอ เจคอบส์อธิบายภายหลังว่า เธอเพียงแค่ไม่อยากสัญญาในสิ่งที่อาจจะรักษาสัญญาไม่ได้ แต่เหตุผลเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยให้รอดพ้นจากการทำโทษอยู่ดี นับแต่นั้นมาเธอจึงมองย้อนกลับไปแล้วพบว่า นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอรู้สึกพึ่งพาตนเองได้มากกว่าเดิม

ก้าวแรกของชีวิตสู่เมืองใหญ่เกิดขึ้นตอนเธออายุ 12 ขวบ โดยการไปเที่ยวกับครอบครัวที่เมืองนิวยอร์ก ซึ่งนิวยอร์กในช่วงรุ่งโรจน์ระหว่างทศวรรษ 1920 ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ มีความเจริญ เต็มไปด้วยแฟชั่นล้ำยุคทั้งหญิงและชาย ก้าวแรกนี้นับเป็นประกายสำคัญที่ผูกพันเธอกับเมืองใหญ่เอาไว้จวบจนบั้นปลายชีวิต

หลังปฏิเสธที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วยความรู้สึกเบื่อหน่าย เธอก็ได้งานในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการคอลัมน์สำหรับผู้หญิงบนหนังสือพิมพ์ The Scranton Tribune ก่อนจะได้รับประสบการณ์สำคัญจากน้าสาวที่บริหารศูนย์ชุมชนฟื้นฟูทักษะของคนยากไร้ในเมืองฮิกกินส์ (Higgins) มลรัฐแคโรไลนา และทำให้เธอได้รับแนวคิดเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นติดตัวมาด้วยแม้ตนเองจะเป็นคนนอกชุมชน 

ด้วยเสียงเพรียกของเมืองใหญ่ ทำให้เธอตัดสินใจกลับสู่นิวยอร์กในปี 1934 ในย่านบรูคลิน ไฮทส์ (Brooklyn Heights) ใช้เวลาไปกับการเขียนงานให้แก่สื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักและการเดินสำรวจชุมชนย่านต่างๆ ของนิวยอร์ก ซึ่งต่อมาการเขียนงานอย่างตรงไปตรงมาและเข้าร่วมขบวนการสหภาพแรงงานเพื่อขับเคลื่อนเรื่องความเป็นธรรมทางรายได้ของเพศหญิงและชายก็ทำให้เธอมีปัญหากับสำนักพิมพ์ เจ้านายของเธอซึ่งทำนิตยสาร The Iron Age ถึงกับมองว่าเธอเป็นตัวปัญหา และกล่าวว่า “เป็นแค่นักพิมพ์ธรรมดาๆ” 

เธอลงหลักปักฐานในนิวยอร์กอย่างจริงจังหลังแต่งงานกับสถาปนิกหนุ่ม โรเบิร์ต ไฮด์ เจคอบส์ จูเนียร์ (Robert Hyde Jacobs Jr.) และซื้อตึกเก่าที่ฮัดสัน สตรีท (Hudson Street) ย่านเวสต์ กรีนิช วิลเลจ ซึ่งผู้คนมักมองว่าไร้ระเบียบ จราจรคับคั่ง มีแต่โกดัง โรงงาน ร้านค้า วุ่นวายสับสนไปเสียหมด อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้กลับจุดประกายแนวคิดของเธอ และทำให้เธอต้องท้าชนกับผู้มีอำนาจในเวลาต่อมา

ก้าวแรกสู่สังเวียน กับคู่ชกขาใหญ่ในวงการผังเมือง

ปี 1952 เจคอบส์ได้ย้ายไปทำงานที่ Architectural Forum นิตยสารชั้นนำด้านสถาปัตยกรรมของสหรัฐฯ แม้ว่าจะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านสถาปัตยกรรมมาก่อน อย่างไรก็ตาม บรรดาบรรณาธิการกลับมองว่าเป็นการเปิดมุมมองที่ดีต่อตึกและอาคารเมื่อไม่ได้ถูกมองจากฝั่งผู้เชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว

ช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ผู้คนเริ่มมีบ้านอยู่ชานเมืองและใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางเข้ามาทำงานที่ศูนย์กลาง ขณะที่ย่านใจกลางเมืองกลับถูกมองว่าเป็นชุมชนแออัด ไม่น่าอยู่อาศัย และเต็มไปด้วยอาชญากรรม ซึ่งในสายตาผู้มีอำนาจมองว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่อาจจะแพร่กระจายไปทำลายส่วนอื่นๆ ของเมืองได้ ทำให้ ‘กระบวนการฟื้นฟูเมือง’ เริ่มก่อตัวขึ้น เป้าหมายคือการทุบบล็อกที่เต็มไปด้วยตึกเก่าทิ้งและแทนที่ด้วยอาคารใหม่ที่เชื่อว่ามีประโยชน์กว่า โดยเฉพาะการไล่คนในชุมชนออกไปเพื่อสร้าง ‘เคหะชุมชน’ (Public Housing) ขึ้นมาแทน ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้เจคอบส์ได้พบกับ เอ็ดมุนด์ เบคอน (Edmund Bacon) นักวางผังเมืองผู้มีชื่อเสียง โดยเขาพยายามหว่านล้อมให้เธอเห็นถึงความดีงามของโครงการเคหะชุมชนแห่งใหม่ ทว่าเธอกลับไม่ได้เห็นด้วยไปกับเขา

เอ็ดมุนด์ เบคอน (Edmund Bacon)

เจคอบส์มองว่า อาคารเหล่านี้ว่างเปล่าและไร้ชีวิตชีวากว่าชุมชนเดิม อาคารใหม่ที่ดูสูงส่งและทันสมัย แต่กลับไม่มีผู้คนเดินถนนขวักไขว่ ขณะเดียวกัน อาคารขนาดใหญ่เหล่านี้ยังตัดความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ไม่มีสถานที่พบปะกันของผู้คน พ่อแม่ไม่สามารถมองดูลูกๆ วิ่งเล่นกันได้จากระเบียงห้อง อีกทั้งเหตุอาชญากรรมที่สูงขึ้นก็ทำให้คนไม่กล้าใช้ลิฟต์ ปัญหาที่โครงการใหม่นำพาเข้ามา ทำให้เธอรู้สึกว่าจำเป็นที่ต้องกระโดดออกจากการเป็นนักเขียนสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว

ปี 1956 เจคอบส์ได้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแทนบรรณาธิการของเธอ ซึ่งการพูดถึงปัญหาด้านการฟื้นฟูเมืองอย่างตรงไปตรงมาทำให้มีผู้เห็นด้วยกับเธอเป็นอย่างมาก และทำให้เธอได้เขียนบทความ ‘มหานครที่กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ’ (The Exploding Metropolis) ขึ้นมา ผลักดันเธอไปสู่การเป็นบุคคลสาธารณะ แม้ว่าจะมีแรงเสียดทานสูงมากจากบรรดานักนิตยสารและสถาปนิกผู้ชายจำนวนมาก แต่เธอก็ทำให้สังคมหันมารับฟังได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

แนวคิดสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาคือ ‘เมืองสองเวลา’ (Two-Shift City) ที่ทำให้ถนนเอื้อต่อการใช้ชีวิต การจับจ่ายใช้สอย ทั้งกลางคืนและกลางวัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ย่านกลางเมืองมากขึ้น และการพยายามหาทางทำลายแนวคิดเรื่องการสร้างถนนบล็อกยาว เนื่องจากการทำให้มีถนนบล็อกสั้นๆ จะเพิ่มความเจริญด้านการค้าและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนได้มากกว่า 

แนวคิดของเธอทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปะทะกับผู้มีอำนาจจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ โรเบิร์ต โมเสส (Robert Moses) เจ้าหน้าที่รัฐผู้ทรงอิทธิพลของนิวยอร์กอย่างยาวนาน ซึ่งพยายามเปลี่ยนนิวยอร์กให้ ‘ทันสมัย’ ตามแนวคิดฟื้นฟูเมือง ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและเทศบาลเต็มที่ ทั้งคู่เริ่มขับเคี่ยวกันในปี 1950 โดยโมเสสต้องการสร้างทางหลวงเส้นใหม่ผ่ากลางวอชิงตัน สแควร์ ปาร์ค และจำเป็นต้องรื้อบ้านเรือนออกเป็นจำนวนมาก โดยเขาอ้างว่าการทำให้เมืองมีเส้นทางคมนาคมมากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญกว่าในระยะยาว

โรเบิร์ต โมเสส (Robert Moses)

เจคอบส์ได้ร่วมกับกลุ่มผู้ไม่พอใจร่อนจดหมายถึงเจ้าหน้าที่นิวยอร์กกว่า 30,000 ฉบับ และตั้งโต๊ะลงชื่อเรียกร้องให้หยุดยั้งการก่อสร้างโครงการทางหลวงนี้ เหตุผลสำคัญคือ การจราจรผ่ากลางสวนสาธารณะชุมชนจะทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กและผู้อยู่อาศัยอื่นๆ ซึ่งเจคอบส์และสามีสามารถโน้มน้าวให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มลรัฐเขตเวสต์ วิลเลจ ช่วยรณรงค์ ไปจนถึงผู้มีอิทธิพลระดับอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 เอเลนอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosvelt) ที่เคยอาศัยอยู่ในย่านนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

สุดท้ายโครงการนี้ล้มเหลว ไม่มีผู้ใช้รถคนใดขับผ่านสวนแห่งนี้ และทำให้เทศบาลลงมติห้ามการสัญจรพาหนะทุกชนิดในสวนแห่งนี้อีกต่อไป จึงนับได้ว่าเจคอบส์ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ภายใต้การสนับสนุนของประชาชนในพื้นที่และการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชาญฉลาด

ต่อมาชุมชนได้ช่วยเธออีกครั้งในการยับยั้งโครงการทำลายทางเท้าบนถนนฮัดสัน สตรีท ในปี 1960 อีกด้วย

การต่อสู้กับผังเมือง ภาพสะท้อนการช่วงชิงความหมายของการพัฒนา

หลังจากการต่อสู้เพื่อสวนสาธารณะและทางเท้าจบไปไม่นาน แนวคิดเรเดียนท์ซิตี้ (Radiant City) ของสถาปนิก เลอ กอร์บูว์ซีเย (Le Corbusier) กำลังได้รับความนิยม โดยต้องการออกแบบเมืองที่มีตึกระฟ้าเกาะกลุ่มกัน ล้อมด้วยพื้นหญ้าสีเขียวจำนวนมาก ซึ่งผู้คนต่างเชื่อมั่นว่าจะเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยโดยสามารถรักษาพื้นที่สีเขียวเอาไว้ได้ แต่เจคอบส์กลับไม่คิดเช่นนั้นและเริ่มออกมาตอบโต้

เธอกล่าวว่า ผังเมืองฉบับดังกล่าวไม่สมเหตุสมผลและจะเป็นการทำลายชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่มาอย่างยาวนาน โดยเธอยกตัวอย่างโครงการคล้ายคลึงกันที่เมืองเซนต์หลุยส์ ซึ่งสุดท้ายถูกปล่อยทิ้งร้างและต้องทุบทิ้งหลังจากสร้างแล้วเสร็จใน 20 ปี

ขณะเดียวกัน แนวคิด ‘อุทยานนคร’ (Garden City) ที่เน้นการสร้างงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในย่านชานเมืองมากขึ้น เจคอบส์ก็แย้งว่าเป็นการก่อสร้างที่เต็มไปด้วยระเบียบแบบแผน ซึ่งจะทำให้มิติของผู้คนที่พลุกพล่านขาดหายไป รวมถึงจะไม่มีที่ว่างให้กับการเจริญเติบโตและพัฒนาไปมากกว่านี้ในระยะยาว 

ภายหลังเจคอบส์เขียน ‘ความตายและความเป็นของมหานครอเมริกา’ ขึ้นมาเพื่อตอบโต้ทั้งสองแนวคิดดังกล่าว โดยเธอได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการใช้พื้นที่ผสมผสาน ที่มุ่งเอากิจกรรมต่างๆ ในเมืองมาทับซ้อนกัน แต่ต่างช่วงเวลา ทำให้เมืองเกิดปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น มีชีวิตชีวาและขับเคลื่อนตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน รวมไปถึงทำให้เกิดความปลอดภัยจากพลังของชุมชนมากกว่าแนวคิดผังเมืองแบบอื่น ขณะเดียวกันก็ต้องการตัดถนนให้สั้นลงและมีตึกเก่าคงไว้บ้าง เนื่องจากตึกมีราคาที่ประชาชนทั่วไปเอื้อมถึงได้ อีกทั้งการปรับปรุงอาคารเป็นร้านรวงต่างๆ ก็จะยิ่งช่วยฟื้นฟูชุมชนในละแวกใกล้เคียงได้มากไปกว่าการทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่อย่างไร้ประโยชน์

ในแง่นี้ เจคอบส์จึงกำลังต่อสู้เพื่อแย่งชิงความหมายของคำว่า ‘สลัม’ กลับคืนจากภาครัฐ เนื่องจากรัฐและเทศบาลมองว่าสลัมคือสิ่งสกปรกที่สมควรถูกกำจัด ก่อนจะแทนที่ด้วยความเจริญที่ใหม่กว่า แต่เจคอบส์กลับมองว่าในชุมชนแออัดยังมีด้านดีงามที่ไม่ควรถูกทำลาย ขณะเดียวกันชุมชนเหล่านี้ต่างก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมจัดการ 

เจคอบส์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาเมือง (หรือการพัฒนาอื่นๆ) ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียวเสมอไป ขณะเดียวกันศักยภาพของชุมชนก็เป็นสิ่งที่พัฒนาตนเองได้ แต่การพัฒนาจากส่วนกลางลงมามักไม่ประสบความสำเร็จเหมือนที่คิด ดังนั้นการกระจายอำนาจสู่ชุมชนจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ควรถูกมองข้ามหรือด้อยค่าลง

พลังของชุมชน เมือง และการอยู่ร่วมกัน

เจคอบส์มีโอกาสใช้ชีวิตจนถึงวัยชรา ชื่อของเธอเป็นที่จดจำในฐานะนักต่อสู้ภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม Lang กับ Wunsch เน้นย้ำในหนังสือตลอดทั้งเล่มนี้ว่า พลังของชุมชนเองก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันการต่อสู้เหล่านี้ไปพร้อมกับเจคอบส์ หากชุมชนไม่ร่วมออกมากดดันเทศบาลนิวยอร์กแล้ว โครงการหลายอย่างคงสามารถดำเนินไปจนเกิดความเสียหายได้มากกว่านี้

ในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางเท้าที่กำลังถูกทำลาย หากไม่ใช่เพราะลูกของเจคอบส์กำลังเดินเล่นอยู่บนทางเท้าจนพบเห็นการวัดถนนของเจ้าหน้าที่แล้ว เธอก็อาจจะไม่รู้ได้เช่นกันว่ากำลังจะเกิดโครงการอะไรขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการที่ชุมชนมีหูตาไวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และพร้อมจะกระจายข่าวสารต่อกันตลอดเวลานั้น คือพลังเคลื่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาของรัฐได้เป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ในสายตาของผู้มีอำนาจ การมองภาพใหญ่อย่าง ‘เมือง’ ก็มักจะเห็นแต่ภาพของตึกสูง อาคารชุดขนาดใหญ่ หรือห้างสรรพสินค้า แต่กลับไม่เห็นถึงผู้อยู่อาศัยในฐานะมนุษย์ กลายเป็นเพียงตัวเลขทางด้านสถิติสำหรับการทุบ รื้อ หรือย้ายที่อยู่เท่านั้น และยิ่งชี้ให้เห็นว่าภาครัฐหลายแห่งขาดความเข้าใจในชุมชนที่ตนเองต้องการจะพัฒนา ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน และขาดความเข้าใจที่จะอยู่ร่วมกัน

ดังนั้นสิ่งที่หนังสือ เจน เจคอบส์ นักคิดผู้พลิกชีวิตเมือง ต้องการจะบอกผู้อ่าน จึงอาจไม่ใช่แค่การเล่าประวัติของนักต่อสู้ด้านสิทธิของคนเมืองในประเทศที่ห่างไกลให้เราฟังเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพลังชุมชน และวิธีการรวบรวมเสียงของผู้คนเพื่อขับเคลื่อนในประเด็นที่ต้องการให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ได้มีคำเตือนไว้เล็กน้อยว่า แต่ละเมืองย่อมมีสภาพปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างเชิงบริบทอาจจะทำให้การต่อสู้ในแบบของเจคอบส์ใช้ไม่ได้ผลกับเมืองแห่งอื่นบนโลก 

แต่หากมองในภาพรวม ความรู้เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อการกำหนดผังเมืองในประเทศไทยเรายังนับว่ามีน้อยอยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความรุนแรงของปัญหาที่เมืองใหญ่ของไทยกำลังเผชิญ สำนักพิมพ์นิสิตสามย่านและผู้แปลอย่างณัฐธีร์จึงนับได้ว่าเป็นผู้มองเห็นปัญหา และเป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามส่งมอบคำอธิบายบางอย่างสู่สังคมไทยผ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างน่าสนใจ

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved