ผู้เที่ยงธรรม: รัก ยุติธรรม อุดมการณ์ ความตาย

ผู้เที่ยงธรรม: รัก ยุติธรรม อุดมการณ์ ความตาย

“ความยุติธรรมคืออะไร”

“ใครคือผู้พิทักษ์ความยุติธรรม”

“การอภิวัฒน์จำต้องมีขอบเขตเชิงศีลธรรมหรือไม่”

“ถ้าเรารักเพื่อนมนุษย์ แต่ไม่ได้รับความรักตอบ เรายังจะซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเองไหม”

คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างองก์ที่ 1-5 ของ ‘ผู้เที่ยงธรรม’ (Les Justes) บทละครที่ขีดเขียนโดย อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) นักเขียนชาวฝรั่งเศส-แอลจีเรีย เมื่ออ่านจบ เราจะพบว่าตัวละครล้วนมีคำตอบของตัวเอง และเชื้อเชิญให้ผู้อ่านค้นหาคำตอบตามฉบับของตนบ้าง

ผู้เที่ยงธรรม แสดงรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1949 ณ โรงละครเฮแบร์โต กรุงปารีส ปีถัดมาจึงตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ

“ผมใช้ชื่อตัวเอกของบทละคร ผู้เที่ยงธรรม ว่า กาลิอาเยฟ ซึ่งเป็นชื่อจริงของบุคคลทางประวัติศาสตร์ ที่ทำเช่นนี้ไม่ใช่เพราะความเกียจคร้านทางจินตนาการ หากเพราะความเคารพและชื่นชมต่อชายและหญิง ซึ่งในภารกิจที่สุดเลวร้ายก็ยังไม่สามารถเยียวยาหัวใจพวกเขาได้ จริงอยู่ ในบัดนี้เราได้มีความคืบหน้าไปบ้างแล้ว ความเกลียดชังที่กักขังจิตวิญญาณสุดพิเศษของพวกเขาไว้ในความทุกข์ที่ไม่อาจทนได้นั้น ได้สลายสู่ระบบที่สบายขึ้นแล้ว แต่นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ควรจะย้อนมองเงามืดเหล่านี้ การขบถที่เที่ยงธรรมของพวกเขา ภราดรภาพอันแสนยากเข็ญ และความพยายามใหญ่หลวงที่จะปรับตนให้รับกับฆาตกรรมเพื่อจะบอกว่า ความซื่อตรงของเราอยู่ที่ไหน” (สำนวนแปล โคทม-พรทิพย์ อารียา)

โปรยปกหลัง คือ คำอธิบายของกามูส์ต่อบทละครเรื่องนี้ สอดรับกับการ ‘ขบถ’ ที่เป็น ‘ทางออก’ และยืนยันการมีอยู่ของ ‘อิสรภาพ’ ในตัวปัจเจกตามทัศนะทางปรัชญาความไร้เหตุผลที่กามูส์ครุ่นคิดตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

อิวาน กาลิอาเยฟ

 

กามูส์หยิบยกสภาพสังคมรัสเซียในช่วง ค.ศ. 1905 มาเป็นฉากหลังของเรื่องราว รัสเซีย ณ ตอนนั้นปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สภาพบ้านเมืองล้าหลัง ผู้คนอดอยาก พ่ายแพ้สงครามให้กับญี่ปุ่น ขบวนการทางสังคมใต้ดินจึงเติบโตและนำไปสู่การปฏิวัติรัสเซียในที่สุด 

ตัวเอกของผู้เที่ยงธรรมคือ กาลิอาเยฟ – กวีนักปฏิวัติ ผู้ได้รับคำสั่งจากองค์การให้ทำหน้าที่ขว้างระเบิดสังหารแกรนด์ดุกค์ เจ้าผู้ครองกรุงมอสโค สัญลักษณ์สูงสุดของระบอบศักดินา หากแต่กาลิอาเยฟล้มเหลวในความพยายามครั้งแรก เพราะแกรนด์ดุกค์เดินทางมาพร้อมแกรนด์ดัชเชสและหลานของเขาซึ่งเป็นเด็ก ถึงอย่างไร เขาก็ไม่พลาดโอกาสหนสอง แกรนด์ดุกค์เสียชีวิต และกาลิอาเยฟยืนยันรับโทษประหาร แทนการรับอภัยโทษจากพระเจ้าซาร์ การยอมถูกแขวนคอทำให้เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ มิใช่ฆาตกรที่ต้องชดใช้กรรมด้วยการมีชีวิตอยู่ต่อ กล่าวคือ ‘ความยุติธรรม’ ในแง่นี้จึงมีค่าเท่ากับความตาย และยืนยันเกียรติยศของกาลิอาเยฟเอง

ในมุมมองของสันติวิธี บทละครเรื่องนี้นับว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งกามูส์ตั้งคำถามต่อการก่อความรุนแรงในบางกรณีว่านับเป็นสันติวิธีหรือไม่ โคทมและพรทิพย์ อารียา ผู้แปล เลือกใช้คำว่า ‘ก่อการรุนแรง’ แทนคำว่า ‘ก่อการร้าย’ เพื่อลดภาพลักษณ์ด้านลบ ในทางหนึ่ง ‘ผู้เที่ยงธรรม’ จึงเป็นงานที่นำเสนออารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายซ้ายในบริบทยุคนั้นได้อย่างถึงแก่น เจ็บปวด อาวรณ์ และหม่นหมอง ทั้งยังแตะประเด็นจริยธรรมได้อย่างแยบคาย  

แกรนด์ดุกค์และภรรยา

 

(ม่านเปิด)

ฉาก 1 ภายใน/ห้องพักของพวกก่อการรุนแรง/เช้า

 

สเตปังพ้นโทษออกจากคุก ได้รับคำสั่งให้มาช่วยงานในปฏิบัติการสังหารแกรนด์ดุกค์ หัวใจของเขาเต็มไปด้วยความเกลียดชังต่อทรราช หมายมือเป็นแม่นมั่นว่าจะเป็นผู้ขว้างระเบิด ทว่าหน้าที่นั้นถูกมอบหมายให้กาลิอาเยฟ ชายผู้มีชีวิตชีวามากกว่า

ฉากนี้นำเสนอเฉดสีที่หลากหลายภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน สเตปังคือภาพสะท้อนของคนที่ต่อสู้ด้วยความเคียดแค้น ส่วนกาลิอาเยฟสะท้อนการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยความหวัง

ม่านเปลี่ยนฉากพร้อมคำยืนยันอย่างหนักแน่นของกาลิอาเยฟ

คำยืนยันที่เขาพร้อมจะฆ่าแกรนด์ดุกค์

 

ฉาก 2 ภายใน/ห้องพักพวกก่อการรุนแรง/เย็น

 

ทุกอย่างไม่เป็นดั่งหวัง บรรยากาศตึงเครียด แกรนด์ดุกค์เดินทางพร้อมแกรนด์ดัชเชสและเด็กสองคน กาลิอาเยฟไม่ได้ลงมือ และกลับมาขอคำพิพากษาจากมิตรสหาย

การถกเถียงเริ่มขึ้นอย่างดุเดือดและนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า การสังหารเด็กไม่ใช่ทางออก ซ้ำยังลดทอนความชอบธรรมของการเคลื่อนไหว การสังหารหลานแกรนด์ดุกค์ไม่ได้ทำให้เด็กยากไร้มีชีวิตที่ดีขึ้น แน่ล่ะว่าสเตปังไม่เห็นด้วย ทว่าคนที่เหลือดูจะเห็นพ้องกับการตัดสินใจของกาลิอาเยฟ พร้อมให้โอกาสเขาแก้มือ

 

ฉาก 3 ภายใน/ห้องพักพวกก่อการรุนแรง/เย็น

 

สองวันผ่านไป กาลิอาเยฟร่ำลา ดอรา – คนรักร่วมอุดมการณ์ บทสนทนาของทั้งคู่คือตัวแทนของคู่รักที่ผจญชะตากรรมน่าเศร้าจากยุคสมัยที่ความทุกข์ยากของคนแปลกหน้าทั่วแว่นแคว้นกลายเป็นภาระหนักอึ้ง และเรียกร้อง ‘การเสียสละ’ ชีวิตธรรมดาของพวกเขา

“ขอเวลาอย่างน้อยสักครั้งที่จะพูดจากหัวใจ ฉันรอให้เธอเรียกชื่อฉัน ดอรา ให้เธอเรียกหาฉันโดยไม่แยแสกับโลกใบนี้ที่เน่าเฟะด้วยความอยุติธรรม” ดอราเอ่ย

“หยุดเถอะ หัวใจผมคิดถึงแต่เธอ แต่อีกสักครู่ ผมต้องไม่ประหม่า” กาลิอาเยฟตอบกลับด้วยท่วงท่าดุดัน

ไม่นานนัก ทั้งคู่จากกัน ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการ เสียงระเบิดดังขึ้น ดอราร้องไห้ร่างสั่นเทิ้ม ทุกคนเศร้าหมอง 

 

ฉาก 4 ภายใน/ห้องขัง/ไม่ทราบเวลา

 

โฟกา (นักโทษ) สกูราตอฟ (ตำรวจ) และแกรนด์ดัชเชส ทยอยเข้ามาหากาลิอาเยฟที่ห้องขัง

มองในมุมหนึ่ง ฉากนี้สะท้อนข้อถกเถียงเชิงศีลธรรม กาลิอาเยฟพยายามอธิบายว่า ความคิดและอุดมการณ์เกี่ยวกับความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ฆ่าแกรนด์ดุกค์ ความตายของเขาก็เพื่อความงดงามของรัสเซีย ทว่าสกูราตอฟมองว่า ถ้าความคิดเช่นนี้ทำให้เขาไม่สามารถฆ่าเด็กได้ สมควรหรือไม่ที่จะฆ่าแกรนด์ดุกค์

เมื่อแกรนด์ดัชเชสเข้าพบกาลิอาเยฟ เธอกล่าวว่า หลานของแกรนด์ดุกค์คนหนึ่งมีจิตใจหยาบกร้าน ขณะที่อย่างน้อยๆ แกรนด์ดุกค์ก็มีแง่มุมชื่นชอบชาวนา แล้วสิ่งใดกันคือความยุติธรรมที่กาลิอาเยฟเรียกหา

มองอีกมุมหนึ่ง ฉากนี้เผยถึงการพยายามช่วงชิงความหมายของการต่อสู้โดยชนชั้นนำ ทั้งสกูราตอฟและแกรนด์ดัชเชส ต่างเสนอให้กาลิอาเยฟพ้นโทษประหาร โดยให้ยอมรับอภัยโทษจากพระเจ้าซาร์ แลกกับการเปิดเผยตัวตนพี่น้องร่วมอุดมการณ์ แม้กาลิอาเยฟจะปฏิเสธ แต่ข่าวการพบกันระหว่างพวกเขาก็แพร่กระจายไปถึงขบวนต่อสู้ใต้ดินอยู่ดี

สกูราตอฟ กลายเป็นภาพสะท้อนการทำงานของ ‘อำนาจนำ’ การนัดพบเป็นสิ่งที่ถูกจัดฉากขึ้น ข่าวคราวจะสร้างความแคลงใจไม่มากก็น้อย

“คุณไม่รู้จักความรักของพวกเขา” กาลิอาเยฟมั่นคงในน้ำเสียง

“ไม่ครับ แต่ผมรู้ว่า เราจะไม่สามารถเชื่อเรื่องภราดรภาพได้ตลอดคืนโดยไม่มีสักนาทีเดียวที่อ่อนไหว ผมจะรอเวลานั้น” สกูราตอฟยืนพิงผนัง “ไม่ต้องรีบร้อนก็ได้ ผมใจเย็น”

ทั้งสองจ้องหน้ากัน

 

ฉาก 5 ภายใน/ห้องชุด/กลางคืน

 

สายข่าวแจ้งว่ากาลิอาเยฟสิ้นชีพ เขาพิสูจน์ความเที่ยงธรรมแล้ว (อย่างน้อยก็พิสูจน์ว่าศรัทธาของเขาต่อความยุติธรรมเป็นของจริง) สเตปัง ดอรา และมิตรร่วมอุดมการณ์ล้วนทอดอาลัย พยายามอย่างยิ่งในการถกประเด็นอนาคตของการต่อสู้ แต่มันจุกอยู่ในใจหนักหน่วง

“ถ้าหนทางเดียวคือความตาย เราก็เดินผิดทาง ทางที่ถูกนั้นคือทางที่นำไปสู่ชีวิตและดวงตะวัน เราจะต้องไม่หนาวเหน็บอยู่ตลอดเวลา…” ดอราอ่อนล้า

บทสนทนาดำเนินไปสู่การยอมรับชะตากรรมในเชือกเย็นเฉียบเส้นเดียวกับกาลิอาเยฟและโมงยามวังเวงที่เฝ้ารอพวกเขา ‘ผู้เที่ยงธรรม’ ให้คำตอบแก่เราว่า สำหรับภราดรใต้ดินแล้ว ความสิ้นหวังที่เกาะกินหัวใจนานครัน นำไปสู่การก่อการรุนแรงที่ชอบธรรม แม้ว่าหัวใจของพวกเขาจะอิดโรยร้าวราน แม้ว่าพวกเขาต้องพรากชีวิตคนคนหนึ่งก็ตาม

หรือแท้จริงแล้ว ความรักในอุดมการณ์อันบริสุทธิ์นี้เองที่เป็นบ่อเกิดของโศกนาฏกรรม

“ยาเนค คืนอันหนาวเย็น และเชือกเส้นเดียวกัน ตอนนี้ทุกอย่างจะง่ายแล้ว” ดอราร้องไห้

 

(ม่านปิด)

 

ผู้เที่ยงธรรม (Les Justes)
Albert Camus: เขียน
โคทม-พรทิพย์ อารียา: แปล



author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved