No More Names: ชีวิตอันแสนเศร้าของเหล่าจิตวิญญาณผู้ขูดรีดตนเอง

No More Names: ชีวิตอันแสนเศร้าของเหล่าจิตวิญญาณผู้ขูดรีดตนเอง

-1-

“โรคระบาดชนิดใหม่เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกด้วยวิธีการที่ยังไม่ถูกค้นพบ กระโดดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนอย่างรวดเร็วเหมือนน้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ เข้ายึดกุมจิตใจผ่านสมอง เปลี่ยนร่างกายเราให้กลายเป็นอันตรายต่อตัวของเราเอง ทุกข์ทรมานจากความคิดและอารมณ์ที่ควบคุมไม่ได้”

No More Names ชั่วขณะหนึ่ง ของนักเขียนหนุ่ม ภูภุช กนิษฐชาต เล่าเรื่องราวชีวิตอันแสนเศร้าของ ‘ตัวเอก’ มนุษย์เพศชาย ผู้คลั่งอีโก้ (ego) และไม่เคยเผยนามที่แท้จริงของตนแก่ใคร เขามักเปลี่ยนนามแฝงไปเรื่อยๆ เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น อาจเพราะกลัวเหลือเกินที่จะผูกพันกับมนุษย์คนอื่นๆ ตลอดทั้งเรื่อง หากเขาจะสนทนาหรือประกอบกิจกรรมร่วมกับใคร เขาก็ทำราวกับว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอย่างช่วยไม่ได้ก็เท่านั้น

“ไม่มีใครจำใครได้จริงๆ หรอก มีแค่เสแสร้งว่าจำเท่านั้น เพราะงั้นมันเปล่าประโยชน์ที่จะทำความรู้จักกันจริงจัง”

แม้ฉากหน้าของเรื่องที่ว่าด้วยความรัก ความใคร่ และสภาพจิตใจภายในของมนุษย์จะน่าสนใจมากแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ฉากหลังของเรื่อง โลกดิสโทเปียที่โรคซึมเศร้าระบาดจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ไม่ต่างจากเชื้อไวรัส ผู้คนล้มป่วยนับหมื่น บ้างต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลราวกับถูกขังคุก บ้างไม่ถูกจองจำ แต่ก็ต้องกินยาต้านเศร้าไปตลอดชีวิตราวกับเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ไล่โรคร้าย บ้างหายสาบสูญไม่ทราบชะตากรรม เหลือเพียงใบปลิวแจ้งคนหายที่มีเพียงรูปถ่ายและที่อยู่แปะเอาไว้ตามเสาไฟฟ้า บ้างก็ไม่ต้องทนทุกข์ เพราะตัดสินใจลาโลกไปแล้ว

 

-2-

หากเราเชื่อตามข้อเขียนของ บยอง ชอล ฮัน (Byung-Chul Han) นักปรัชญาชาวเกาหลีที่เติบโตในเยอรมนี ว่า ทุกยุคทุกสมัยมีความป่วยไข้เฉพาะตัวของมันเอง ปัจจุบันผู้คนในสังคมที่ฮันเรียกว่า ‘สังคมแห่งการหมดไฟ’ (burnout society) ก็กำลังทนทุกข์กับโรคทางจิตและโรคทางประสาทขนานใหญ่ อาทิ โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น (ADHD) ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ การสับสนในตัวเอง การโหยหาความสนใจ ตลอดจนภาวะหมดไฟ หรือ burnout

ฮันเห็นว่า สภาพสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบันที่พยายามมุ่งไปสู่ ‘สังคมแห่งความสำเร็จ’ (achievement society) เป็นสาเหตุหลักที่สร้างบรรยากาศหม่นหมองจนกัดกร่อนจิตใจของมนุษย์ เพราะสังคมเช่นนี้พยายามกระตุ้นให้ผู้คนบูชาความสำเร็จและบีบให้ต้องคิดในแง่บวกอยู่ตลอดเวลา

เพื่อให้เห็นภาพว่า การมองโลกในแง่บวกกลายเป็นเรื่อง toxic ต่อจิตใจมนุษย์ได้อย่างไร ฮันยกตัวอย่างแนวคิด ‘สังคมแห่งวินัย’ ของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) มาเพื่อเปรียบเทียบ เพราะอำนาจเชิงวินัย (disciplinary power) คืออำนาจเชิงลบ (negativity) ที่ทำงานบนเรือนร่างของมนุษย์ เพื่อให้สยบยอม (subject) และเชื่องเชื่อ ผ่านการออกกฎระเบียบต่างๆ มาควบคุม ผ่านการออกข้อบัญญัติต่างๆ มาสั่งห้าม หรือสั่งให้มนุษย์กระทำสิ่งต่างๆ ตามที่อำนาจต้องการ

ขณะที่อำนาจที่ทำงานในสังคมแห่งความสำเร็จกลับเป็นอำนาจเชิงบวก (positivity) ที่ปราศจากความรู้สึกลบใดๆ อำนาจชนิดใหม่นี้ไม่สั่งห้ามใคร แต่กลับคอยกระตุ้น บันดาลใจ สนับสนุน กระทั่งล่อลวงใจ (seduce) ให้มนุษย์กระทำสิ่งต่างๆ ตามความปรารถนาของตนเอง สังคมแห่งความสำเร็จจะไม่ห้ามปรามคุณ แต่จะใช้คำว่า ‘สามารถ’ (can) ‘ทำได้’ หรือ “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” (Nothing is impossible.) มากล่อม

ฟังแล้วมันก็ดูดีใช่ไหม? 

แต่เพราะว่ามันเล่นกับความรู้สึกเชิงบวกมากจนล้นเกินนี่แหละ พลังบวกจึงกลับกลายเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งที่กระทำต่อ ego ของมนุษย์จนพังไม่เป็นท่า เมื่อความสำเร็จคือเป้าหมายสูงสุดในอุดมคติที่ต้องไปให้ถึง มนุษย์ที่ล้มลงระหว่างทาง ตัดสินใจบางอย่างผิดพลาด ล้มเหลวในการทำตามฝัน หรือบางครั้งแค่เหนื่อยล้าจากภารกิจวิ่งไล่คว้าความสำเร็จนี้ ก็จะกลายเป็นเพียง ‘พวกขี้แพ้’ (loser) หรือป่วยไข้ทางจิต กล่าวคือ ความสำเร็จกลายเป็นแรงกดดันที่ฉุดมนุษย์ให้จมดิ่งลงในเงามืดของจิตใจตนเอง

ฮันเห็นว่า ในสังคมเช่นนี้ ‘ego’ ไม่ได้ถูกควบคุมและห้ามปรามโดย ‘super-ego’ ซึ่งเป็นพลังภายนอก อาทิ กฎเกณฑ์ ศีลธรรม หรือพระเจ้า อีกต่อไป แต่ ego จะวิ่งไล่คว้าตัวตนในอุดมคติหรือ ‘ego ideal’ อย่างสุดแรงเกิด 

มนุษย์จึงกลายเป็นแรงงานที่ทำการขูดรีดตนเองอย่างเต็มใจ เพื่อให้บรรลุถึงศักยภาพของตนที่ไม่อาจไม่มีวันบรรลุได้จริง เพียงเพื่อจะพบว่าสิ่งที่รออยู่ปลายทางอาจไม่ใช่ความสำเร็จ หากแต่เป็นความป่วยไข้ทางจิตใจ 

เมื่ออุดมคติที่ว่า “ฉันทำได้” ต้องเผชิญหน้าความเป็นจริงว่า “ฉันทำไม่ได้” อาการ toxic ของสังคมบูชาความสำเร็จและมองโลกในแง่บวกก็ผุดโผล่ขึ้นมาเล่นงานมนุษย์เฉกเช่นที่ตัวเอกรำพึงรำพันว่า

“ไม่มีความผิดหวังจากใครที่สร้างความเจ็บปวดได้เท่ากับความผิดหวังจากตัวเราเอง” 

 

-3-

ช่วงต้นเรื่อง ตัวเอกผู้ไร้นามหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นบาร์เทนเดอร์ในร้านเหล้าแห่งหนึ่งย่านถนนข้าวสาร นอกจากชงเหล้า เขายังต้องรับบทคู่สนทนาจำเป็น คอยฟังเรื่องราวชีวิตที่ล้มเหลวของบรรดาลูกค้ามากหน้าหลายตา

เขาต้องทำงานนอก ‘JD’ (Job Description) จำนวนมาก ตั้งแต่งานชวนแหวะอย่างล้างห้องน้ำหรือเช็ดอ้วกลูกค้า ช่วยทำบัญชี จนถึงติดต่อธุรกิจแทนหัวหน้าที่ชอบหายตัวไปดื้อๆ บางครั้งก็ต้องสวมบทเป็นนักดนตรีจำเป็น โดยไม่มีการจ่ายเงินค่าล่วงเวลาหรือถามความสมยอมใดๆ

“การทำงานส่วนใหญ่ไม่นิยมทำสัญญาจ้างกันอีกแล้ว ชีวิตเราแขวนอยู่บนเส้นด้ายบางๆ ไม่มีทางรู้ว่าวันใดใครจะอยู่หรือจะไป”

นี่คือความเปราะบางของแรงงานในยุคโรคระบาด

อาจเพราะสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง และขูดรีดอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนักหน่วง มนุษย์จึงต้องอาศัยการบริโภคสินค้าบางประเภท เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้ เพื่อบำบัดความเศร้าและปัดเป่าสภาวะหมดไฟ

“อันที่จริงงานนี้ก็ไม่ได้แย่เท่าไรหากคุณเป็นคนติดเหล้าติดเบียร์ สูบบุหรี่อย่างกับมีปอดสามข้าง”

ตัวเอกพูดถึงงานบาร์เทนเดอร์ที่เขาเกลียดหนักหนา

ฟรังโก เบราร์ดี (Franco Berardi) หรือ ‘Bifo’ นักมาร์กซิสต์ชาวอิตาลี แสดงความเห็นประชดประชันระบบทุนนิยมได้เจ็บแสบว่า งานจะทำให้มนุษย์มีรายได้ และรายได้ก็จะนำมาซึ่งความสุขที่ได้จากการบริโภคสินค้าและบริการที่ระบบทุนหยิบยื่นให้ ดังนั้น จงรักงานของคุณ

แต่ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้เข้าถึงความสุขกลับยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสินค้าต่างๆ ที่เปรียบเสมือน ‘เครื่องบำบัดความเศร้า’ ถูกผูกขาดอยู่ในมือผู้ประกอบการไม่กี่เจ้า และวางขายแค่ในร้านสะดวกซื้อเจ้าดังไม่กี่แห่ง ปลายปากกาของภูภุชทำให้เราได้เห็นว่า สินค้าต่างๆ ตั้งแต่อาหาร ชา กาแฟ บุหรี่ นาฬิกา โทรศัพท์ ไปจนถึง ‘ยาปรับอารมณ์’ อันควรจะเป็นของสามัญประจำบ้านในโลกที่อาการซึมเศร้าเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นสินค้าผูกขาดได้อย่างไร

“เหมือนพวกเขาแค่ต้องการให้เรามียากินเฉยๆ จะได้ไม่มีใครลุกไปบ่นได้ว่าขาดแคลนยา เพราะอย่างนั้นรักษาเท่าไรก็ไม่หายขาดสักที”

คำตัดพ้อของตัวเอกจึงยิ่งขับเน้นลักษณะของระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพายากระตุ้นประสาท (Prozac economy) ตามคำของ Bifo และระบบสังคมที่พึ่งพิงการโด๊ปยา (doping society) ของฮัน 

 

-4-

 

Bifo ยังเสนอไว้ว่า การขูดรีดแรงงานในระบบทุนนิยมเวอร์ชั่นใหม่ หรือระบบทุนนิยมสัญญะ ได้เปลี่ยนจากการขูดรีดแรงงานกายภาพมาเป็นการขูดรีดจิตวิญญาณของมนุษย์ รวมถึงความคิด ปัญญา อารมณ์ ความรู้สึก

หากทุนนิยมอุตสาหกรรมต้องอาศัยแรงกายของมนุษย์เพื่อทำการผลิต และใช้อำนาจวินัยเพื่อกดเรือนร่างของมนุษย์ให้เชื่อง (docile body) โดยไม่สนใจมิติด้านจิตวิญญาณนัก ทุนนิยมสัญญะกลับต้องการใช้งานจิตวิญญาณของมนุษย์อย่างเต็มที่ แม้มนุษย์จะมีร่างกายก็เป็นเพียงเรือนร่างไร้ประโยชน์ ทั้งยังเป็นภาระที่ต้องคอยตอบสนองความต้องการเพื่อให้มีความสุขอยู่เสมอ ตั้งแต่การกินอาหารดีๆ ออกกำลังกาย หรือกระทั่งมีเพศสัมพันธ์

“ถ้าเราหิวข้าวเราก็ต้องกิน ถ้าเราหนาวเราก็ต้องกอดใครสักคน เซ็กส์ก็ไม่ต่างกัน ปล่อยให้ตัวเองสนุกไปก็พอ มันไม่ได้พิเศษอะไรหรอก”

ประโยคเรียบง่ายแต่เสียดแทงของหญิงสาว คู่นอนหรือ ‘FWB’ (friend with benefit) ที่ตัวเอกหลงเข้าใจว่ามันคือความรัก ได้สลายความรู้สึกว่าตนเป็นคนพิเศษลง และเริ่มเปิดฉากโศกนาฏกรรมบทใหม่ขึ้น นอกจากนี้ ความไม่พิเศษของความสัมพันธ์ยังสอดคล้องกับกระบวนการที่สังคมแห่งการหมดไฟกระทำต่อมนุษย์อีกด้วย

“กิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่มีความหมายอีกต่อไป หากเป็นเพียงกระบวนการทางชีววิทยาเท่านั้น” ฮันเขียนเอาไว้ใน The Burnout Society

สิ่งต่างๆ จึงปราศจากแก่นสาร ไม่คงทน และไม่มีความหมายอีกต่อไป อย่าว่าแต่คุณค่าของสิ่งอื่นๆ และสภาพแวดล้อมภายนอก มนุษย์ที่ถูกพร่ำสอนให้เห็นศักยภาพของตนกลับมองไม่เห็นว่าตนเองมีคุณค่าเลยแม้แต่นิดเดียว นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่นักคิดฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะมาร์กซิสต์ กังวล เพราะจินตนาการในการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ได้ถูกทุบทำลายไปพร้อมสภาพจิตใจของมนุษย์ซึมเศร้าและหมดไฟเรียบร้อยแล้ว ดั่งปรากฏในฉากที่ตัวเอกกำลังหมดอาลัยตายอยาก

“สุดท้ายเราเลยทำได้แค่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็น เพราะเชื่อว่าเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เหนื่อยเกินกว่าจะลุกออกมาพูด ใช้ชีวิตแบบขาดๆ แหว่งๆ กันแบบนี้ต่อไป อีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว จะเอาอะไรอีก” 

 

-5-

สิ่งที่สังคมแห่งการหมดไฟทิ้งเอาไว้คือ ปัจเจกที่สูญเสียความเป็นปึกแผ่นทางสังคมไปแล้ว จนไม่อาจเชื่อมต่อตนเองเข้ากับความสัมพันธ์ใดๆ ได้อีก มนุษย์ที่ถูกขูดรีดทางจิตใจจะสร้างเกราะป้องกันตนเองจากความโกลาหลยุ่งเหยิงของสังคมที่ผันผวนขึ้นๆ ลงๆ ไม่ต่างจากวัฏจักรทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม แต่เกราะป้องกันนั้นก็ได้กลายเป็นกรงที่ขังไม่ให้ ego หรือ ‘ตัวตน’ เชื่อมต่อกับตัวตนอื่นๆ ได้อีก

เมื่อไม่อาจมีสัมพันธ์ที่แท้จริงและลึกซึ้ง (intensive bonding) กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ ได้ สิ่งเดียวที่ ego มองเห็นก็คือ ตัวเอง เป้าหมายแห่งความปรารถนา ความรัก และอารมณ์ต่างๆ จึงมีเพียงแต่ตัวเองเท่านั้น

เพราะเหตุนี้ ฮันจึงเสนอว่า ภาวะซึมเศร้า (depression) ของสังคมแห่งการหมดไฟ จึงแตกต่างจากอาการเศร้าโศก (melancholy) หรือความเสียใจ (mourning) เพราะสองอารมณ์หลัง ผู้โศกเศร้าเสียใจยังมีวัตถุหรือบุคคลอื่นที่เขายึดเหนี่ยวด้วย ความเศร้าเกิดขึ้น จากการที่ต้องประสบกับการสูญเสีย ‘สิ่ง’ อันเป็นที่รักนั้นไป แต่ภาวะซึมเศร้านั้นต่างออกไป มันไม่มีเป้าหมาย ไม่มีวัตถุหรือบุคคลที่เรายึดโยงด้วย เพราะมนุษย์ยุคทุนนิยมตอนปลายทุ่มเทพลังใจไปกับ ego ของตนเองแทบหมดแล้ว จึงไม่เหลือพลังนั้นไปใส่ใจใคร 

หากจะมีความสัมพันธ์กับใคร ก็เป็นเพียงความสัมพันธ์ชั่วครั้งชั่วคราว ประเดี๋ยวประด๋าว เพื่อนหรือคนรักมีหน้าที่เพียงแค่ให้ ego เรียกร้องความสนใจ หรือเป็นเพียงแค่ ‘ลูกค้า’ ที่ ego พยายามนำเสนอตัวมันเองในฐานะสินค้า (commodity) เท่านั้น 

สำหรับฮัน มนุษย์เหล่านี้นอกจากรักใครไม่เป็นแล้วยังรักตนเอง (self-love) ไม่ได้อีกด้วย อย่างเดียวที่พวกเขาจะทำได้คือ การหลงตน (narcissism) ซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนผ่าน ‘ตัวเอก’ ของ No More Names ที่แสวงหาความรักและความสัมพันธ์เพียงเพราะอยากให้ตนเองเป็นคนพิเศษของใครสักคน

 

-6-

“พวกเราทุกคนกำลังทรมาน บางคนทรมานมาก บางคนทรมานน้อย ไม่มีหลักเกณฑ์แน่ชัดที่จะวัดระดับความเศร้าอย่างเป็นสากล อาจจะเพราะความเศร้าเป็นเรื่องของปัจเจก และที่ที่เราอยู่มันเส็งเคร็งจนจัดการอะไรไม่ได้ พอประเทศเป็นแบบนี้ ผมก็เลิกหวังไปนานแล้วว่าจะหายป่วย”

แม้คำบรรยายจะกล่าวเช่นนั้น แต่เนื้อหาตลอดทั้งเล่มคือหลักฐานที่ชัดเจนว่า ความป่วยไข้ทางจิตไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นมาก

แม้ No More Names อาจไม่ได้แสดงคำบรรยายชัดๆ ว่าโรคระบาดที่ทำให้คนซึมเศร้าแพร่กระจายกันต่อกันได้อย่างไร แต่ลึกๆ เราต่างก็ทราบดีว่า ความป่วยไข้แพร่กระจายมาทางอากาศที่มีมลพิษ

อากาศนั้นชื่อว่า ระบบทุนนิยม

 

อ้างอิง

 

No More Names ชั่วขณะหนึ่ง
ภูภุช กนิษฐชาต
สำนักพิมพ์ P.S.

 

author

Random books

© WAY MAGAZINE. All rights reserved