ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น: ยูโรปาและวัว (ครึ่ง) ตัวนั้น

ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น: ยูโรปาและวัว (ครึ่ง) ตัวนั้น

-1-

 

ผมอยากจะเริ่มด้วยฉากขืนใจครั้งหนึ่งในตำนานปรัมปราของกรีก

วันหนึ่ง ยูโรปา (Europa) ธิดาสาวของเจ้าเมืองฟินิเชีย เดินเล่นเด็ดดอกไม้อย่างเริงร่าในทุ่งกว้างกับเหล่านางบริวาร ทันใดนั้นก็มีโคเผือกหนุ่มสง่างามย่างเยื้องเข้ามาใกล้ ยูโรปาถูกเสน่ห์ของวัวขาว ‘ตก’ เข้าอย่างจัง จึงเข้าไปสวมช่อดอกไม้ และลูบไล้มันร่างกายของมัน เจ้าวัวก็น้อมตัวลงอ่อยให้ยูโรปาขึ้นขี่หลัง

ทว่าเมื่อยูโรปาขึ้นควบหลังไม่ทันไร เจ้าวัววิ่งโจนทะยานพานางมุ่งสู่ท้องทะเล โดยไม่ฟังเสียงร้องของเหล่านางกำนัล หลังชะลอฝีเท้าและหยุดลง ณ เกาะที่ชื่อว่า ครีต (Crete) โคเผือกก็คืนร่างเป็นเทพเจ้านามว่า ซุส (Zeus) เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าและสายฟ้า ราชาผู้ปกครองโอลิมปัส และจอมเจ้าชู้แห่งตำนานทวยเทพ

ซุสสมสู่กับยูโรปา และตั้งเธอเป็นราชินีองค์แรกแห่งเกาะครีต ก่อนจะทิ้งยูโรปากลับดินแดนแห่งเทพ ซุสได้มอบของวิเศษแก่นาง 3 อย่าง ได้แก่ หุ่นยนต์ผู้พิทักษ์ทำมาจากทองแดง ทาลอส (Talos) ลาแลปส์ (Laelaps) หมาล่าเนื้อที่ไม่เคยล้มเหลวในการล่าเหยื่อ และหอกวิเศษที่ไม่เคยพลาดเป้า และแถมลูกชายอีก 3 คน

ว่ากันว่า เหตุการณ์อื้อฉาวทางเพศครั้งนี้เป็นที่มาของการที่ชาวกรีก (โดยได้รับอิทธิพลจากชาวครีต) ขนานนาม ดินแดนของพวกเขาด้วยนามของยูโรปา

 

-2-

 

ยูโรปาและวัวตัวนั้นปรากฏกายอีกครั้งบนหน้าปกหนังสือ ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น (2565) ของ จอห์น เฮิร์สท์ (John Hirst) ฉบับพากษ์ไทยของสำนักพิมพ์ PARAGRAPH

ทว่าร่างกายที่เคยถูกบรรยายว่าสง่างามนักหนาของโคหนุ่ม กลับถูกบีบย่อเหลือครึ่งตัวราวกับวัวพิการ

นี่ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจนักหากเรายังจำชื่อเรื่องของหนังสือที่มีคำว่า ‘สุดสั้น’ ได้ คุณ Wonderwhale ผู้ออกแบบปก คงเจตนาถ่ายทอดออกมาให้ตรงกับเจตนาของจอห์น เฮิร์สท์ ซึ่งหลบเลี่ยงรายละเอียดปลีกย่อยที่ทำให้หนังสือประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่น่าเบื่อได้อย่างงดงาม

 

-3-

 

หนังสือเล่มนี้คือร่างกายครึ่งซีกที่ยังเหลืออยู่ของวัวตัวนั้น เมื่อถอดความเป็นตัวอักษรเสียใหม่อาจได้นิทานเรื่องสั้นๆ ว่า จุดเริ่มต้นของอารยธรรมยุโรปเกิดจากการผสมผสานขององค์ประกอบ 3 ประการ คือ วัฒนธรรมกรีกและโรมันโบราณ คริสต์ศาสนา และวัฒนธรรมของชนชั้นนักรบเยอรมัน

ขยายความอีกหน่อยก็ได้ว่า คนกรีกมองโลกใบนี้อย่างเรียบง่าย ทำงานตามหลักตรรกะและกฎคณิตศาสตร์ ชาวคริสต์มองโลกใบนี้เต็มไปด้วยความชั่วร้ายสามานย์ และมีเพียงพระคริสต์เท่านั้นที่จะเป็นผู้กอบกู้ได้ และชนนักรบเยอรมันเผ่าต่างๆ เห็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจเป็นเรื่องบันเทิงใจ

“ลูกหลานแห่งอารยธรรมตะวันตกจึงมาจากต้นกำเนิดที่ปนเปยิ่ง และไม่อาจมีแห่งหนใดที่เรียกว่าเป็นบ้านที่แท้” (น.61)

ส่วนผสมที่ดูจะเข้ากันไม่ได้เหล่านี้หลอมรวมกันจนเป็นอารยธรรมยุโรป โดยเฉพาะใน ‘ยุคกลาง’ ซึ่งมีคริสตจักรเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่โอบรับองค์ประกอบทั้ง 3 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง

แต่ในที่สุด ส่วนผสมที่ผิดฝาผิดตัวและไม่แน่นแฟ้นก็ต้องแตกสลายลง พร้อมๆ กับอำนาจของคริสตจักรที่เริ่มเผชิญหน้าการท้าทายระลอกแล้วระลอกเล่า ตั้งแต่กระแสฟื้นฟูศิลปวิทยาการในศตวรรษที่ 15 การปฏิรูปศาสนาในศตวรรษที่ 16 การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 17 หรือกระแสคิดเรืองปัญญาในศตวรรษที่ 18 คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงแต่ละระลอกรวมกันเข้าเป็นกระบวนสลายอำนาจศาสนา (secularisation)

หากองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างเคยบรรลุจุดสูงสุด และปรากฏเป็นรูปธรรมผ่าน ‘จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์’ (the Holy Roman Empire) ในศตวรรษที่ 18 รอยปริร้าวของมันน่าจะใหญ่หลวงมากเสียจนทำให้ถูกเสียดสีอย่างเย้ยหยันว่า “ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่โรมัน และไม่ได้เป็นจักรวรรดิ” โดยปัญญาชนฝรั่งเศสนามว่า วอลแตร์ (Voltaire) และสำหรับเฮิร์สท์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของยุคที่เรียกว่า ‘ยุคสมัยใหม่’

หนังสือทั้งเล่มของเฮิร์สท์เปรียบเสมือนการมอบ ‘แผนที่ทางความคิด’ (mind map) ที่จะพาเราไปสำรวจว่า องค์ประกอบเหล่านั้นเปลี่ยนรูปโฉมไปอย่างไรบ้างในช่วงเวลาต่างๆ สิ่งใหม่เกิดจากสิ่งเก่าอย่างไร และสิ่งเก่ายังคงดำรงอยู่และหวนคืนมาอย่างไร

 

-4-

 

แน่ล่ะ อารยธรรมไม่ได้ดำเนินไปตามโครงเรื่องในลักษณะนี้ แต่เรื่องราวจะตรึงใจกว่าหากอารายธรรมจะต้องมีจุดรุ่งเรืองและตกต่ำ และนักประวัติศาสตร์อย่างเฮิร์สท์ก็ทราบเรื่องนี้ดี

ตามขนบเล่าเรื่องยอดนิยม การรุกรานของชนเผ่านักรบเยอรมันในปี ค.ศ. 476 นับเป็นจุดล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก แต่เฮิร์สท์เห็นว่า จริงๆ แล้วจะเรียกว่าชนเยอรมันเป็นผู้พิชิตจักรวรรดิ เพราะจักรวรรดิกำลังค่อยๆ สลายตัวไปเองในอุ้งมือของพวกเขาเสียมากกว่า

แล้วผู้นำนักรบแต่ละเผ่า (ซึ่งอัพสถานะขึ้นมาเป็นกษัตริย์) ก็ถูกทิ้งให้ต้องบริหารดินแดนแต่ละแห่งที่ตนได้มา โดยที่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารรัฐและจัดเก็บภาษีได้อย่างโรมัน กษัตริย์จึงต้องอาศัยความภักดีจากเหล่าขุนนางและเจ้าที่ดินรายใหญ่ซึ่งควบคุมทรัพยากรและกำลังพล เพื่อแลกกับการขยายอำนาจของตน

เฮิร์สท์เห็นว่า กษัตริย์ในยุโรป ไม่ได้เป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่ง คำว่า ‘สมบูรณ์’ ที่ใช้เรียกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงอาจชวนให้เข้าใจผิดได้ เพราะกว่าจะรวบอำนาจในราชอาณาจักรได้ กษัตริย์ต้องยอมโอนอ่อนและทำตามข้อตกลงพิเศษต่างๆ มากมาย

เมื่อการค้าเจริญขึ้นพร้อมการขยายตัวของเมือง กษัตริย์ก็ได้พยายามอุปถัมภ์ชนชั้นใหม่ นั่นคือกระฎุมพีหรือชนชั้นกลางที่อาศัยในเมือง อาทิ พ่อค้าและนายธนาคาร เพื่อใช้อำนาจความมั่งคั่งของคนเหล่านี้คานอำนาจของเหล่าขุนนาง

ทว่าวิถีชีวิตแบบกระฎุมพีที่พ่วงมากับการค้าขาย (ที่จะพัฒนาต่อไปเป็นทุนนิยม) ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบคุณค่าแบบเก่าที่มีกษัตริย์อยู่ปลายยอด ในระยะยาวพวกเขาจึงท้าทายและสั่นคลอนการปกครองของกษัตริย์ จนบางแห่งถึงกับจับกษัตริย์มาตัดคอ

 

-5-

 

พร้อมๆ กับการแตกสลายของจักรวรรดิโรมัน อาณาจักรยิบย่อยของผู้นำนักรบผุดโผล่ขึ้นมาจำนวนมาก ชื่อที่เราคุ้นเคยกันดีก็อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี โปรตุเกส ฯลฯ

เฮิร์สท์เล่าประเด็นการก่อตัวของ ‘ชาตินิยม’ ผ่านภาษา

ในขณะที่คริสตจักรเรืองอำนาจ ภาษาละติน (ของโรมัน) กลายเป็นภาษาสากลในโลกตะวันตก แต่หลังจักรวรรดิล่มสลาย ภาษาละตินได้วิวัฒน์กลายเป็นภาษาที่ต่างกันในแต่ละท้องถิ่น บางแห่งยังคงความโรมันอยู่มาก เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน แต่บางแห่งก็ได้รับอิทธิพลจากภาษาเจอร์แมนิก เช่น อังกฤษ

เมื่อเฮิร์สท์ฉายภาพแผนที่ทางภาษาของยุโรป เค้าร่างแผนที่ของรัฐ-ชาติ (nation-state) ก็ปรากฏต่อสายต่อผู้อ่านไปพร้อมๆ กัน 

ถึงตอนนี้ การขบคิดว่าผู้ปกครองหรือรัฐบาลที่ดีควรเป็นอย่างไรไม่เพียงพออีกต่อไป หากรัฐบาลไม่ได้ตั้งขึ้นจากกลุ่มชนของตน ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมร่วมกัน ดังนั้นยุโรปจึงประกอบไปด้วยรัฐต่างๆ มากมายที่ยึดถือ ‘ชาติ’ เป็นอุดมการณ์หลัก

“ยุโรปคือกลุ่มของรัฐและรัฐเหล่านี้มักขัดแย้งกันเสมอมา” (น.213)

 

-6-

 

“หากชาตินิยมสร้างขึ้นมาเพื่อสงคราม การพัฒนาอุตสาหกรรมก็ทำให้สงครามเลวร้ายกว่าเดิม” (น.214)

2 บทสุดท้าย เฮิร์สท์พยายามชี้ให้เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความมั่งคั่งทางการค้า ตลอดจนอุดมการณ์ต่างๆ ที่ต่อท้ายด้วยคำว่า ‘นิยม’ (เช่น ชาตินิยม เสรีนิยม ทุนนิยม สังคมนิยม ฯลฯ) ที่คลี่คลายจากองค์ประกอบอีรุงตุงนังทั้งหลายในยุคก่อนหน้า ได้ผันแปรเป็น ‘พลังทำลายล้าง’ ของยุโรปสมัยใหม่ได้อย่างไร

ปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 แนวคิดที่ทรงพลังอย่างหนึ่งคือ การอยู่รอดของผู้เข้มแข็งที่สุด และไม่มีสิ่งใดที่ควรจะเข้มแข็งที่สุดได้มากเท่าชาติของตนอีกแล้ว เมื่อแต่ละชาติพยายามขยายอำนาจของตนออกไป สงครามระหว่างรัฐ-ชาติต่างๆ ดูจะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้

และแล้วสงครามก็เกิดขึ้นจริงๆ พร้อมแสนยานุภาพทางการทหารที่พัฒนาขึ้นพร้อมเครื่องจักรของระบบอุตสาหกรรม พูดให้ถูกก็คือ มหาสงครามหรือสงครามเบ็ดเสร็จ (total war) ทั้ง 2 ครั้ง และการสังหารหมู่มนุษย์ขนานใหญ่อีกหลายครั้ง ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อคนในชาติอื่นๆ ทั่วทั้งโลก

 

-7-

 

จอห์น เฮิร์สท์ (1942-2016) นักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์สังคมคนสำคัญของออสเตรเลีย เคยสอนที่มหาวิทยาลัยลาโทรบ เมืองเมลเบิร์น จนกระทั่งเกษียณเมื่อปี 2007

เดิมที หนังสือเล่มนี้คือคำบรรยายที่แต่งขึ้นเพื่อแนะนำประวัติศาสตร์ยุโรปสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย เพราะเขาเห็นว่า เด็กๆ ออสเตรเลียควรได้รู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอารยธรรมที่พวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่ง

“ผมไม่ได้ค่อยๆ เล่าเรื่องตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนจบ แต่ให้ภาพอย่างรวบรัด แล้วจึงย้อนกลับมาลงรายละเอียดในภายหลัง” 

เฮิร์สท์จึงพยายามคั้นเอาแต่แก่น เสนอแต่หัวใจสำคัญที่ประกอบร่างขึ้นเป็นอารยธรรมยุโรป จนเกิดเป็นวัว (ครึ่ง) ตัวฉบับนี้ขึ้น ซึ่งได้รับการตีพิมพ์แล้วกว่า 500,000 เล่ม ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก วัวที่สามารถนำทางคนชาติอื่นๆ ในโลกไปรู้จักกับยูโรปาได้อย่างรวบรัดและแจ่มแจ้ง

คำถามคือ อีกครึ่งหนึ่งของวัวที่หายไปคืออะไรบ้าง

 

-8-

 

คำบรรยายในปกหลังอาจบอกใบ้ถึงชิ้นส่วนที่หายไปของวัวได้

“อารยธรรมยุโรปมีความเฉพาะตัว เป็นอารยธรรมเพียงชุดเดียวที่ครอบทับไปทั่วโลก ผ่านการชนะสงครามและการตั้งถิ่นฐาน ผ่านอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางความคิด และเพราะสามารถนำเสนอสิ่งที่ผู้คนในแห่งหนอื่นต้องการ”

ถูกของเฮิร์สท์ที่บอกว่า อารยธรรมยุโรปครอบทับไปทั่วโลก แต่คงไม่ถูกนักหากจะบอกว่า ยุโรปไม่ใช่อารยธรรมเดียวที่มีความเฉพาะตัว และยิ่งไม่ถูกนักหากจะบอกว่า ยุโรปสามารถนำเสนอสิ่งที่ผู้คนอื่นๆ ต้องการได้ทั้งหมด

นี่เฮิร์สท์กำลังบอกเราหรือเปล่าว่า การกดขี่ขูดรีดอย่างทารุณที่เกิดจากระบอบอาณานิคมเป็นของพึงปรารถนา สงครามโลกที่ดึงชาติอื่นๆ เข้าร่วมด้วยพึงปรารถนา หรือกระทั่งสงครามเย็นที่ใช้ประเทศโลกที่สามเป็นตัวแทน ใช้ดินแดนนอกยุโรปเป็นสมรภูมิ ใช้ชีวิตของคนทวีปอื่นๆ เป็นทหาร ก็น่าพึงปรารถนาด้วยหรือ

ท่อนที่ควรขีดไฮไลต์เอาไว้คือ “อารยธรรมที่ครอบทับไปทั่วโลกผ่านสงคราม อำนาจเศรษฐกิจ และอำนาจทางความคิด” 

ถ้าเราสืบค้นต่อจากคีย์เวิร์ดเหล่านั้น ก็อาจได้พบว่า การเดินทางของยูโรปาและวัว (ครึ่ง) ตัวนั้นไม่ได้จบลงที่เกาะครีต คนที่ถูกขืนใจไม่ได้มีแค่ยูโรปา และบางที ลูกหลานของยูโรปาเองนั่นแหละที่กระทำการขืนใจคนอื่นๆ ไปทั่วโลก

 

ประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับสุดสั้น
(The Shortest History of Europe)

John Hirst เขียน
วริศรา กิตติคุณเสรี แปล

สำนักพิมพ์พารากราฟ

author

Random books