(1)
โกรธไม่พอ หรือรู้สึกไม่พอ
“คนไทยยังโกรธไม่พอ” คือคำอธิบายที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่ผมจะพอหามาได้ ยามเมื่อเฝ้ามองและศึกษาปรากฏการณ์การเมืองไทยที่เกิดขึ้นตลอดหลายทศวรรษ ทั้งการถูกปล้นชัยชนะจากการเลือกตั้งผ่านกลไกอันซับซ้อนซ่อนกลของรัฐพันลึก (ที่ปัจจุบันลอยโผล่พ้นน้ำให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง) การถูกกระทำ ย่ำยี ลิดรอนสิทธิ หรือแม้กระทั่งการที่บุคคล ‘ถูกบังคับสูญหาย’ ไปอย่างไร้ร่องรอย
แม้ทั้งหมดที่ว่ามานี้ จะเป็นสิ่งที่คนในสังคมไทยรับรู้กันว่ามีอยู่ อย่างน้อยที่สุด หากคำอธิบายว่าคนในสังคมไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นความจริง สภาวะตาสว่างถ้วนหน้าก็น่าจะนำไปสู่อะไรสักอย่างที่สะท้อนถึงการไม่ยอมรับซึ่งความยุติธรรมที่มีอยู่ในสังคม
ทว่า แรงกระเพื่อมดังกล่าวกลับเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากคนจำนวนหยิบมือเท่านั้น ซึ่งยากที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหากไร้ซึ่งมวลชนส่วนใหญ่ในสังคมร่วมด้วย ดังนั้น หากไม่บอกว่าคนไทยยังโกรธไม่พอ ผมก็ไม่รู้จะใช้คำอธิบายชุดไหนมาบรรยายถึงสภาพความสยบยอมที่เกิดขึ้นของคนในสังคมไทยในเวลานี้
อนึ่ง การเลือกใช้ชุดคำอธิบาย “คนไทยยังโกรธไม่พอ” ในบทความนี้ ก็สวนทางกับความคิดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ล่วงลับ ที่มองว่าคนไทยไม่ได้ใจเย็น แท้จริงแล้วคนไทยต่างก็มีความโกรธต่อความอยุติธรรมและสภาพสังคมที่เป็นอยู่ และความโกรธนั้นก็มากพอที่จะก่อจลาจลในสังคมได้ เพียงแต่การกระทำเช่นนั้นอาจไม่นำไปสู่สถานการณ์อะไรที่ดีกว่า จึงทำให้ความโกรธนั้นไม่ถูกเผยออกมาให้เป็นที่รับรู้
11 สิงหาคม 2556 ช่วงเย็นวันศุกร์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คนจำนวนหนึ่งต่างมารำลึกถึง ‘ต้าร์’ หรือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในผู้ถูกบังคับสูญหายในสังคมไทย ซึ่งหายตัวไปเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว
ก่อนหน้าวันงาน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรต่างเชิญชวนประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้คนมาร่วมงานในวันดังกล่าวและเห็นความสำคัญของสถานการณ์การอุ้มหายในสังคมไทย เมื่อถึงวันงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น ในโลกโซเชียลก็มีคอนเทนต์รำลึกถึงวันเฉลิมมากมาย เหล่าบรรดาเพื่อนฝูงของผมไม่น้อย ต่างก็แชร์เนื้อหาเหล่านั้นลงช่องทางของตัวเอง
ในวันงาน แม้จะมีคนมาร่วมงานไม่น้อย ในระดับที่ไม่ทำให้ห้องดูโล่ง ไม่ทำให้บรรยากาศดูเคว้งคว้าง ไม่ทำให้คนจัดงานผิดหวัง แต่สำหรับผมคิดว่าน่าผิดหวังไม่ใช่น้อยที่ในห้วงยามที่เราต่างพูดกันว่า ผู้คนตาสว่างแล้ว ผู้คนตื่นตัวทางการเมืองแล้ว แต่กลับมีคนให้ความสนใจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่การอุ้มฆ่า การบังคับสูญหาย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และเกี่ยวพันกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันอย่างไม่อาจแยกขาด
ย้อนกลับไปคืนก่อนวันจัดงาน รุ่นน้องนักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งในออฟฟิศที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากหอศิลป์ เธอเชิญชวนเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยของเธอผ่านช่องทางออนไลน์ ให้เดินขบวนจากคณะไปยังหอศิลป์เพื่อไปร่วมงานรำลึกวันเฉลิม ซึ่งมีระยะทางไม่น่าถึง 1 กิโลเมตร
ภายในงานเมื่อผมเจอเธอ ผมถามเธอถึงผลประกอบการว่า มีคนมาร่วมมากน้อยแค่ไหน
“แปลกใจมาก มีมากัน 4 คน”
“แปลกใจเพราะว่าน้อยหรือเยอะกว่าที่คิด?”
“เยอะกว่าที่คิด”
บางทีผมก็คิดว่าสาเหตุสำคัญอาจไม่ใช่เพราะคนไทยโกรธไม่พอ แต่อาจเพราะเรายัง ‘รู้สึก’ ไม่พอมากกว่า
ใช่…ถ้าจะโกรธ ต้องรู้สึกก่อน หากไม่รู้สึกต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนี้ เราคงไม่อาจเรียกตัวว่าประชาชนที่ตื่นตัวได้ด้วยซ้ำ แม้กระทั่งจะเรียกว่าเป็นคนเฉยๆ ยังมิอาจพูดได้เต็มปาก
เรายังรู้สึกกับมันน้อยเกินไป
และที่แย่กว่าก็คือ สังคมนี้พยายามทำให้เรารู้สึกกับมันน้อยลงๆ ยามเมื่อความอยุติธรรมเกิดขึ้นใจกลางเมือง แล้วผู้คนนิ่งเฉย นั่นคือชัยชนะของฝ่ายอำนาจนำ
(2)
หล่อเลี้ยงความเจ็บปวด
ผมคิดว่าเราอยู่ในสังคมที่รับรู้ถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย หากเราต้องการจะรู้ และไม่หลับหูหลับตาเกินไปนัก ในขณะเดียวกันมันก็ง่ายเหลือเกินที่จะไม่รู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้น พูดกันอย่างเห็นอกเห็นใจคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่กินพลังงานชีวิตของเราตั้งแต่เช้าจรดค่ำ มันอาจดีกว่าด้วยซ้ำ ถ้าคุณจะไม่รู้สึกอะไรกับมันเลย จะเอาเรื่องเหล่านี้มาทำให้เครียดและหดหู่อีกทำไม ใครที่เลือกเส้นทางนี้ผมก็เข้าใจ อาจไม่ถึงขั้นเคารพ เพราะไม่รู้จะต้องเคารพในมิติไหน จะพูดว่าเคารพในฐานะคนคนหนึ่งก็ดูตื้นเขินไป แต่ก็เรียกว่าเข้าใจ เพราะก็เคยเลือกเส้นทางเช่นนั้น แต่ตอนนี้ พอแล้ว ก็ถือว่าตอนนี้เราเดินบนเส้นทางคนละทางก็แล้วกัน
แน่นอน หากไม่เลือกเส้นทางที่เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ มันก็ยังง่ายเหลือเกินที่วันนี้เราจะรู้สึก และพรุ่งนี้เราอาจไม่รู้สึก หรือไม่รับรู้แล้ว อาจเป็นกลไกป้องกันตัวเองของจิตใจเรา ที่ไม่ต้องการให้ใจเรามีบาดแผลหรือเหนื่อยล้าเกินไป ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือกระบวนการหล่อเลี้ยงความเจ็บปวด หล่อเลี้ยงมันเพื่อที่จะไม่ให้เรานิ่งเฉยและไม่รู้สึกต่อความอยุติธรรมเหล่านี้
หนังสือ ยุทธการอุ้มฆ่า ผู้ลี้ภัยทางการเมือง 2557 โดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ผมคิดว่าใช้หล่อเลี้ยงความเจ็บปวด และหล่อเลี้ยงอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ดี เป็นหนังสือประเภทเดียวกันกับ ห้องเช่าหมายเลข 112 และ Never Stop คนและคดียังไปต่อ ของ iLaw ที่ว่าด้วยบันทึกเรื่องราวของคนที่โดนดำเนินคดีในข้อหา ม.112
ความเหมือนกันอยู่ตรงที่หนังสือทั้งสามเล่ม ต่างเป็นหนังสือที่เขียนอย่างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ลีลาและทวงท่าไม่ยากนัก ค่อนข้างเป็นบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา แต่ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นกับความอยุติธรรมที่ผู้คนในหนังสือเหล่านั้นต้องเผชิญ เมื่ออ่านจบก็ทำให้จุกอกได้เสมอ และทำให้รู้สึกเศร้ากับผู้คนที่ต้องเจอกับเรื่องราวเช่นนั้น และโกรธต่อความอยุติธรรมและโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคม
หนังสือยุทธการอุ้มฆ่าฯ ว่าด้วยบันทึกเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกอุ้มฆ่าในต่างแดน โดยมีจุดตั้งต้นตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นต้นมา
สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ทำงานกับความรู้สึกของผู้อ่าน มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนที่สำคัญ ส่วนแรกคือ ‘วิธีการ’ หรือ ‘how to’ ที่ใช้ในการจัดการกับผู้ลี้ภัยทางการเมือง ส่วนที่สองคือ ‘เรื่องราว’ ของเหล่าผู้ถูกอุ้มฆ่าทั้ง 9 คนในเล่ม
ส่วนแรกอันว่าด้วยวิธีการ สมยศเลือกใช้ถ้อยคำในการบรรยายอย่างเรียบง่าย ซึ่งทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านได้อย่างตรงไปตรงมา ในแง่ที่ว่าเหตุใดความโหดร้ายเช่นนี้จึงเกิดขึ้นอย่างดูธรรมดาและไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โตเช่นนี้
“ฆาตกรใช้เชือกไนล่อนและสกอตเทปมัดมือ-เท้า และลำคอ ข้อมือทั้งสองข้างถูกใส่กุญแจมือ ห่อศพด้วยตาข่ายและกระสอบป่าน บริเวณหน้าท้องถูกผ่าเอาเสาปูนยาว 1 เมตร ยัดใส่ท้องถ่วงน้ำ ใบหน้าถูกทุบเละจนจำไม่ได้”
เป็นข้อความที่สมยศเขียนบรรยายในหนังสือ ตอนที่ 4 ‘ทำไมต้องอุ้มฆ่าถ่วงแม่น้ำ’ ซึ่งเล่าผ่านกรณีการอุ้มฆ่าถ่วงแม่น้ำของผู้ลี้ภัยทั้ง 3 คน คือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ กาสะลอง และภูชนะ
คำบรรยายเรียบง่ายของสมยศ ในบทที่ความยาวไม่ถึง 5 หน้า ที่อ่านจบในเวลาไม่ถึง 5 นาทีด้วยซ้ำ แต่ความรู้สึกเศร้าและหดหู่ ในขณะเดียวกันก็โกรธแค้นผู้กระทำ ยังคงสุมอยู่ในอกเป็นเวลายาวนาน แม้กระทั่งในวินาทีที่เขียนบทความนี้อยู่ ความรู้สึกดังกล่าวก็ยังไม่จางหายไป
ในส่วนที่สอง ที่ว่าด้วย ‘เรื่องราว’ ของเหล่าผู้ลี้ภัย ผมคิดว่าเรื่องราวของต้าร์-วันเฉลิม น่าจะตีแสกหน้าคนหลายๆ คนที่เชื่อว่าเรื่องเหล่านี้ ทั้งการอุ้มฆ่า การถูกบังคับสูญหาย ล้วนเป็นเรื่องไกลตัว
ในกรณีของต้าร์ เขาเชื่อว่าตัวเขาซึ่งไม่ได้มีความเชื่อหรือพัวพันกับกลุ่มที่นิยมระบบสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการตามล่า ไม่น่าจะโดนสั่งเก็บและอยู่รอดปลอดภัย แต่อยู่ดีๆ วันหนึ่ง เขาก็หายตัวไป มีเพียง สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของต้าร์ที่ได้รับสายจากเขา คำพูดสุดท้ายของเขาที่พูดกับเธอผ่านโทรศัพท์มือถือ คือ “หายใจไม่ออก”
นั่นหมายความว่า การอุ้มฆ่า การบังคับบุคคลให้สูญหาย ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีหลักการ เราไม่มีทางรู้เลยว่าผู้มีอำนาจจะออกคำสั่งให้ปฏิบัติการด้วยเหตุผลอะไร
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราควรจะรู้สึกยังไง กลัว? โกรธ? เศร้า? หดหู่?
ผมคิดว่าจะรู้สึกอย่างไรก็ได้ จะโกรธไม่พอก็ไม่เป็นไร
แต่ที่สำคัญคือต้องรู้สึก
มันน่าสิ้นหวังพอสมควรที่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราจะไม่รู้สึกอะไรเลย เมื่อรับรู้ว่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณเช่นนี้
(3)
อย่าลืมเลือนความเจ็บปวด
ผมเจอหนังสือเล่มนี้จากหน้างานรำลึกวันเฉลิม และซื้อมาพร้อมกับเสื้อสีดำสกรีนข้อความ ‘ยกเลิก 112’ สำหรับผมหนังสือเล่มนี้เป็นวัตถุดิบที่ดี เหมือนกับมีดที่ใช้กรีดตัวเอง ยิ่งอ่าน ยิ่งกรีดลึกลงไปในหัวใจ แต่อย่างน้อยประโยชน์ของมันก็ทำให้เราไม่อยู่ในภาวะชินชาเพิกเฉยต่อสภาวะความอยุติธรรมในสังคม และยังไม่ทำให้เราลืมเลือนความเจ็บปวดของผู้คนที่เผชิญเรื่องเหล่านั้นอีกด้วย
วันที่ 22 สิงหาคม 2566 การกลับมายังประเทศไทยของอดีตนายกรัฐมนตรีในรอบ 15 ปี เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า แล้วเหล่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่นๆ จะได้กลับบ้านเมื่อใด พวกเขาเหล่านั้นจะต้องอยู่ในชะตากรรมเช่นไร ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ต่อไปอีกนานแค่ไหน
รัฐบาลจัดตั้งสำเร็จแล้ว นายกฯ ก็มีแล้ว ฝ่ายค้านก็มีแล้ว แต่ใช่ว่าความอยุติธรรมในสังคมไทยจะสูญสิ้นไป หากเราหลงลืมความเจ็บปวดที่เคยเผชิญ วันข้างหน้าเราอาจถูกกระทำซ้ำ วนเวียนไปเช่นนี้จนเป็นวัฏจักร
อย่าลืมเลือนความเจ็บปวด
และความอยุติธรรมที่เพื่อนเราเคยเจอ