14 ตุลาคม 2516 ถูกจรดลงบนประวัติศาสตร์ว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของประชาชน เปิดประตูเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน กลิ่นไอแห่งความหวังของคนหนุ่มสาวฟุ้งไปทั่วสารทิศ แต่ชัยชนะกลับอยู่ได้ไม่นานก็ถึงคราวนองเลือดครั้งใหญ่ เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บีบให้คนหนุ่มคนสาวต้องตบเท้าเข้าป่า จับอาวุธเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ด้วยความหวัง
ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการเมืองไทยหลังเหตุการณ์นองเลือด คลื่นขบวนของนักศึกษา ปัญญาชน ท่วงทำนองของการต่อสู้ การเดินทาง การดำรงอยู่ และชีวิตจริงในป่าของนักเคลื่อนไหวเดือนตุลา ถูกบันทึกไว้ด้วยความทรงจำและประสบการณ์ของ จันทนา ฟองทะเล จากเทือกเขาดอยยาว สู่พรมแดนต่างๆ กระทั่งสิ้นสุดลงที่ภูผาจิ เขตพื้นที่จังหวัดพะเยา-น่าน ถ่ายทอดผ่านหนังสือที่ชื่อ ‘จากดอยยาวถึงภูผาจิ’
วาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา WAY มีโอกาสได้สนทนากับ อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ เจ้าของนามปากกา ‘จันทนา ฟองทะเล’ หนึ่งในนักศึกษาผู้ลี้ภัยเข้าป่าหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 ฟังเรื่องราวการต่อสู้อันยากลำบากในเขตป่าเขาลำเนาไพรที่ถูกร้อยเรียงออกมาเป็นหนังสือบันทึกความทรงจำและประวัติศาสตร์การเมือง
หนังสือจากดอยยาวถึงภูผาจิ ที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกหลังออกจากป่ากว่า 10 ปี อยากทราบว่าตอนนั้นคิดอย่างไรจึงตัดสินใจเขียนบันทึกนี้ขึ้นมา
ผมอยู่ในป่า เคลื่อนย้ายไปหลายที่ บ้างอยู่ชายแดนลาว อยู่จีน นอนกลางดินกินกลางทรายก็มี ตอนไปอยู่ที่คุนหมิง ประเทศจีน นอนห้องแอร์โรงแรมห้าดาวก็มี ชีวิตมันก็เป็นไปหลายแบบ
ผมชอบเก็บบันทึก โดยเฉพาะช่วงทำงานมวลชนที่จังหวัดน่าน 2 ปีเต็มๆ ผมทำหน้าที่เก็บข้อมูล ทั้งข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลมวลชน ข้อมูลหมู่บ้าน เพราะเราเป็นหน่วยทำงานมวลชน ทำจนเป็นสัญชาตญาณ
หลังออกจากป่าในปี 2525 และทิ้งระยะไปอีก 10 ปี ช่วงนั้นหลายคนก็เขียนหนังสือออกมาเยอะ ผมเองก็คิดว่าน่าจะบันทึกเรื่องนี้ไว้เท่านั้นเอง เพราะว่ามันเป็นประสบการณ์ของคนรุ่นเราที่ไม่เหมือนคนอื่น ก่อนหน้านั้นอาจมีจับปืนสู้กันบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นขบวนการใหญ่โต ก็เลยอยากจะบันทึกเอาไว้ในฐานะที่เราเป็นเยาวชนคนหนึ่ง เพื่อที่จะบอกว่าเราเรียนรู้อะไรบ้าง ได้เห็นและได้รู้สึกกับอะไร
ต้องเรียนตามตรงว่า ช่วงที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงในป่า ปี 2522-2523 ผมย้ายไปอยู่เป็นเอกเทศห่างจากข้อขัดแย้ง สภาพอารมณ์และสภาพจิตใจก็เลยดีหน่อย หน่วยงานที่ผมอยู่ มีผู้รับผิดชอบหรือ ‘จัดตั้ง’ ส่วนมากเป็นปัญญาชน เป็นนักศึกษารุ่นก่อน การสื่อสารค่อนข้างเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นหน่วยที่ผมอยู่จึงไม่ค่อยมีเรื่องขัดแย้ง อยู่กับธรรมชาติมากกว่า จุดเริ่มต้นมันก็แค่นั้นเอง
หนังสือจากดอยยาวถึงภูผาจิ ได้รับการยกย่องว่ามีน้ำเสียงในการเล่าที่ดี ไม่มีน้ำเสียงที่เกรี้ยวกราด ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการสรรเสริญนักต่อสู้ เป็นความตั้งใจที่จะใช้น้ำเสียงแบบนี้ในการเล่าหรือไม่
ผมไม่ได้ตั้งใจจะเขียนในเชิงการเมืองหรือในเชิงวิเคราะห์สถานการณ์ ไม่ได้คิดอย่างนั้นและไม่ได้มองเรื่องนั้นเลยว่าขบวนการนี้มันทำอะไร แพ้หรือชนะเพราะอะไร ไม่ได้สนใจประเด็นเหล่านั้น สนใจแค่ว่าอยากจะเล่าความเปลี่ยนแปลงในตัวเรา อยากจะเล่าความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความรู้สึกในตัวเราที่ไปอยู่ตรงนั้น 5 ปี ผ่านอะไร เห็นอะไร และเรารู้สึกกับมันอย่างไร
อยากให้ช่วยเปรียบเทียบวัฒนธรรมการแสดงออกของนักเคลื่อนไหวยุคนั้นกับยุคปัจจุบัน มีความเหมือนหรือต่างอย่างไร
นักเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ผมรู้จักส่วนตัวไม่มากมีน้อยคน ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นอุดมคติหรืออุดมการณ์คงไม่ต่างกัน เราเห็นความอยุติธรรม ความไม่ถูกต้อง และคิดว่าต้องไปสู้ ต้องไปทำ ความเป็นเยาวชนคนหนุ่มสาวตรงนี้คงไม่ต่างกัน
เพียงแต่ว่าเราอยู่คนละสถานการณ์ คนละยุคสมัย เพราะฉะนั้นขบวนการ แนวทาง วิธีการ ท่วงทำนอง วิธีพูด ภาษาการสื่อสารจึงไม่ค่อยเหมือนกัน ผมอยู่ในขบวนปฏิวัติ เพราะฉะนั้นจึงเรียกร้องความเข้มงวด เรียกร้องวินัย การพูดและการกระทำต้องอยู่ในกรอบกติกาการจัดตั้ง มันเป็นขบวนการผิดกฎหมาย เป็นขบวนการใต้ดิน ผิดพลาดก็ถูกจับถูกฆ่า การแสดงออกจึงค่อนข้างเป็นเอกภาพ
แต่ขบวนการสันติวิธีในการต่อสู้ในเมือง การเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย ก็เป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง เดี๋ยวนี้ใครอยากจะวิจารณ์กันในขบวนก็พูดได้เลย แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เป็นเอกภาพนะ เพียงแต่ว่าสีสันเขาก็จะเยอะกว่ารุ่นผม
หนังสือเล่มนี้สามารถทำหน้าที่ต่อบทสนทนากับคนยุคปัจจุบันได้หรือไม่
ผมไม่เคยประเมินเลย รู้เพียงว่าคนรุ่นเราอ่าน ซื้อแล้วซื้ออีก อุดหนุนกัน ส่วนคนรุ่นใหม่อ่านหรือไม่ ผมก็ไม่ค่อยมีข้อมูล
หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องคนหนุ่มสาว เรื่องเล่าทั้งหมดเป็นเรื่องการเรียนรู้ของคนหนุ่มคนสาว ซึ่งก็คงจะมีผลึกของอะไรอยู่บ้าง อาจมีหลักคิดว่าเราควรจะคิดกับชีวิตอย่างไร คิดกับความยากลำบากอย่างไร เราควรจะมองสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างไร ควรจะมองความขัดแย้งอย่างไร ในสภาวะที่มันจนตรอกเราควรจะคิดอย่างไร เมื่อเผชิญหน้ากับความตายควรจะทำใจอย่างไร ผมว่าหนังสือเล่มนี้มันก็จะเล่าอยู่
ความตั้งใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ก็เพียงต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่เราได้เจอ ไม่ได้คิดว่าเราจะตกผลึกอะไร ไม่ได้ต้องการจะบอกว่านี่คือต้นแบบ เพราะคนเราก็ไม่เหมือนกัน
การเข้าสู่ป่าเขา คนส่วนหนึ่งเขาสุกงอมทางความคิด ส่วนหนึ่งถูกรัฐปิดประตูและผลักให้ต้องเข้าป่า คนที่เข้าป่าก็เข้าไปด้วยสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ด้วยแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อเข้าไปแล้วเจออะไร แต่ละคนก็อาจจะคิดไม่เหมือนกัน บางทีเห็นเรื่องเดียวกันก็อาจรู้สึกไม่เท่ากัน
เมื่อก่อนเราเคยพูดกันในหมู่พวกเราว่า ช่วยกันเขียนออกมา ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน แต่ช่วยกันเขียนออกมา ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องช่วยกันเขียน เพราะในหน้าประวัติศาสตร์ไม่เคยมีประชาชน เราจึงต้องช่วยกันเขียน