Sold Out

การงานอันเป็นที่รัก

650 ฿

รายละเอียดการผลิต

  • ขนาด 16.5 x 24 เซนติเมตร
  • ปก ผ้าแคนวาสชนิดพิเศษ พิมพ์ระบบออฟเซ็ต 4 สี ลงบนเนื้อผ้า
  • หุ้มกระดาษแข็งจั่วปังเบอร์ 32 ความหนา 3 มิลลิเมตร
  • เนื้อใน กระดาษถนอมสายตาเนื้อพิเศษ SR 140 แกรม พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม
  • ความหนา 224 หน้า
  • วิธีเข้าเล่ม ปกแข็ง เย็บกี่ สันโค้ง
  • ภายในเล่มแถมภาพสีน้ำพระบรมฉายาลักษณ์ ขนาดประมาณ 16 x 24 เซนติเมตร โดย โอฬาร เนตรหาญ

สินค้าหมดแล้ว

คำอธิบาย

การงานนั้นมีความสำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือ ต้องมีน้ำใจรักงาน จึงจะดำเนินไปโดยสะดวกเรียบร้อยได้

– พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506

หากเราเชื่อว่าคุณสมบัติอย่างหนึ่งของหนังสือที่ดีคือ การอ่านได้หลายแบบ

อ่านได้หลายแบบ ตามแต่ประสบการณ์ชีวิต เพดานความคิด สติปัญญา และความสนใจในแต่ละช่วง

‘การงานอันเป็นที่รัก’ หนังสือรวมพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็คือหนังสือในกลุ่มดังกล่าว

เราเริ่มต้นทำงานหนังสือเล่มนี้ด้วยความคิดเบื้องต้นว่า ประชาชนรักในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากมองเห็นพระองค์ท่านทรงงาน คำสอนว่าด้วยการงานของพระราชาผู้เป็นที่รักของประชาชน จึงเป็นดั่งมรดกเมล็ดพันธุ์ทางปัญญาล้ำค่า ที่หว่านและฝังลงในจิตใจผู้คน เสมือนพระองค์ท่านยังอยู่กับเรา

ต่อเมื่อลงมือทำงานไปสักพักเราจึงพบว่า พระบรมราโชวาท พระราชดำรัสว่าด้วยการงานของพระองค์ท่าน สะท้อนกลับไปมาระหว่างคำสอนของพระราชาต่อประชาชน ขณะเดียวกันก็ทำให้มองเห็นความละเอียด ประณีต แยบยล ของพระองค์ท่านผ่านทุกพยางค์ในพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส

เช่นนี้แล้ว เราควรอ่านหนังสือเล่มนี้แบบไหน

บางทีคำตอบอาจไม่จำเป็นต้องตายตัว

อ่านแบบแรก ในฐานะแรงบันดาลใจให้เกิดความกล้าและความเพียร กล้าทำในสิ่งที่ถูก กล้าทำในสิ่งเหมาะควร กล้าเปลี่ยนแปลงชีวิต เพียรทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะควร เพียรยกความเป็นมนุษย์ของตัวเองให้สูงขึ้น อิ่มใจในผลแห่งการกระทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ฯลฯ ดังที่ ภัทระ คำพิทักษ์ กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของคำตามท้ายเล่มก็ได้

อ่านแบบที่สอง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ “เป็นดั่งหยาดฝนชโลมพื้นหญ้า ทอแสงเรืองรองผุดผ่องดั่งร่มโพธิ์ใหญ่” ดังที่ ภัทระ คำพิทักษ์ กล่าวไว้ก็ได้

อ่านแบบที่สาม อ่านปัญญาและสัมพันธภาพองค์รวม ดังคำแนะนำของ นายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้เขียนคำเสนอท้ายเล่ม ตอนหนึ่งว่า

“ต้องตั้งใจอ่านช้าๆ ทีละคำละคำ และไตร่ตรองให้ลึกซึ้ง เพราะพระราชดำรัสนั้นๆ สั้นและกระชับมาก แต่จะเห็นว่าโดยรวมแล้วเป็นเรื่องปัญญาและสัมพันธภาพ

“ปัญญาคือเป็นเรื่องความจริงว่า สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เป็นองค์รวม”

อ่านแบบที่สี่ อ่านควบคู่ไปกับศึกษาเทียบเคียงบริบททางประวัติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสแต่ละองค์ให้ลึกซึ้ง ดังที่ ไชยันต์ ไชยพร นำเสนอในข้อเขียนท้ายเล่ม โดยใช้ข้อมูลบางส่วนจากโครงการวิจัยเรื่อง ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: การศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ – สถาบันพระปกเกล้า

อ่านแบบที่ห้า ต่อเนื่องจากแบบที่สี่ นอกเหนือจากศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์ หากศึกษาลงลึกไปถึงที่มาของพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส โดยยึดตามภูมิหลังทางการศึกษาของพระองค์ท่าน ตามที่ไชยันต์ ไชยพร สืบค้นในงานวิจัยว่า ระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ทรงศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองกับพระอาจารย์ Firmin Oulès ถึง 7 วิชา ตลอดระยะเวลา 3 ปี (Firmin Oulès เป็นศิษย์เอกของ Gaetan Pirou ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ผู้เลื่องชื่อ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ และมหาวิทยาลัยปารีส)

การอ่านแบบที่ห้านี้จะช่วยให้เข้าใจรากฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น รวมถึงเข้าใจพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระราชอำนาจมาตรา 7 มากขึ้น

อ่านแบบที่หก อ่านเพื่อศึกษาแนวคิดทางการปกครองของพระมหากษัตริย์ผู้ปราดเปรื่อง ได้รับการเชิดชูสูงสุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

หรือจะอ่านแบบที่เจ็ด เรียบง่ายตรงไปตรงมาที่สุด แต่ชัดเจนและทรงประสิทธิภาพที่สุด นั่นคืออ่านในฐานะฮาวทูสำหรับนักบริหาร นักจัดการ รวมถึงผู้ที่มีใจรักงาน ต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ฯลฯ

บางทีคำตอบอาจไม่จำเป็นต้องตายตัวว่าควรอ่านแบบใด

เรากล่าวได้เพียงว่า หากกษัตริย์ที่ดี คือกษัตริย์ที่สร้างความอิ่มเอมใจให้ประชาชน ระหว่างทางของการสืบค้น รวบรวม คัดสรร และขออัญเชิญพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เพื่อจัดทำหนังสือเล่มนี้ นำมาซึ่งความอิ่มเอมใจแก่คนทำงานเป็นอย่างสูง

เป็นความอิ่มเอมใจที่เราอยากแบ่งปันไปถึงนักอ่านชาวไทยทุกคน