Sold Out

โซฟี โชล ‘กุหลาบขาว’ และ ‘นาซี’

230 ฿

ไพรัช แสนสวัสดิ์ เขียน
พิมพ์ครั้งแรก: ตุลาคม 2559

รายละเอียดหนังสือ

  • ความหนา 384 หน้า
  • เข้าเล่มไสกาว

สินค้าหมดแล้ว

หมวดหมู่: ป้ายกำกับ: ,

คำอธิบาย

ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี ระหว่างปี 1933-1945 ฮิตเลอร์และพรรคนาซีได้รับความนิยมในหมู่คนเยอรมันอย่างท่วมท้น

ความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เหตุการณ์ปฏิวัติโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยพรรคบอลเชวิค สถาปนารัสเซียเป็นประเทศสังคมนิยมแห่งแรกในโลก ก่อกระแสความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจทั้งในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ความโกรธแค้นสิ้นหวังกับการบริหารอันล้มเหลวของรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้ง

เงื่อนไขเหล่านี้โอบล้อมให้ชาวเยอรมันฝากความหวังไว้กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้สร้างเนื้อสร้างตัวจากพรรคการเมืองเล็กๆ อย่างพรรคคนงานเยอรมัน (German Workers’ Party – DAP) เมื่อปี 1919 ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมชาตินิยมของคนงานเยอรมัน (National Socialist German Workers’ Party – NSDAP) หรือที่รู้จักกันในนามพรรคนาซี (Nazi)

ฮิตเลอร์ใช้ทักษะทางการพูด ความสามารถในการโน้มน้าว ท่วงท่าบุคลิกเด็ดขาดรุนแรง โดยอาศัยความโกรธแค้นสิ้นหวังของคนในชาติเป็นเชื้อฟืน ก่อนที่จะได้รับความสนับสนุนก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1933

แม้ว่าฮิตเลอร์และพรรคนาซีจะล่วงละเมิด โหดเหี้ยม เข่นฆ่าพลเมืองประเทศอื่น อาทิ ชาวโปแลนด์ ชาวยิว กระทั่งใช้บทลงโทษอย่างรุนแรงกับพลเมืองเชื้อสายเยอรมันด้วยกันเองที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ก็หรี่ตาอนุญาต เห็นดีเห็นงามกับเรื่องที่เกิดขึ้น

ตลอดระยะเวลา 10 ปี คือระหว่างปี 1933-1943 ผู้ที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของฮิตเลอร์เป็นเพียงเสียงส่วนน้อยในสังคม ไม่ใช่เพราะการเอ่ยถึงฮิตเลอร์ในทางเสื่อมเสียในที่สาธารณะเป็นความผิดขั้นรุนแรง แต่ด้วยความเชื่อมั่นในตัว ‘ท่านผู้นำ’ เป็นเหตุให้ชาวเยอรมันเทคะแนนนิยมให้ฮิตเลอร์อย่างสมัครใจ

กระทั่งบทบาทความเคลื่อนไหวของนักศึกษาและปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งมิวนิคที่ชื่อ ‘ขบวนการกุหลาบขาว’ ก็เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้มีพละกำลังต่อรองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังสั่นคลอนท้าทายอำนาจนาซี หรือพลังในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อชาวเยอรมัน

ตอนที่โซฟี โชล และ ฮันส์ โชล แกนนำนักศึกษาขบวนการกุหลาบขาวผู้เผยแพร่ใบปลิวต่อต้านนาซีถูกจับ ถูกศาลทหารประหารชีวิตด้วยเครื่องกีโยตินเป็นกลุ่มแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1943 นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิคหลายพันคน ออกมาชุมนุมสนับสนุนการประหารชีวิต และประณามนักศึกษาร่วมมหาวิทยาลัยที่แจกใบปลิวว่า ‘คนทรยศ’ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์รายวันของพรรคนาซีรายงานข่าวนี้สั้นๆ ด้วยข้อความว่า ‘เป็นการจัดการกับพวกนอกคอกเสื่อมทราม’

กระทั่งฮิตเลอร์หมดอำนาจภายหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 ก็ใช่ว่าชาวเยอรมันส่วนใหญ่จะตระหนักรู้โดยฉับพลันว่าสิ่งที่ตนนับถือศรัทธานั้นผิด

ปี 1951 เยอรมันตะวันตกออกกฎหมายผู้เสียหายจากการกระทำของนาซี แต่จวบจนถึงกลางทศวรรษ 1960 ประเด็นการต่อต้านนาซียังเป็น ‘หัวข้ออ่อนไหว’ หรือเป็น ‘เรื่องต้องห้าม’ ในสังคมเยอรมัน นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ สื่อมวลชน นักศึกษา และชาวบ้านทั่วไป ยังต้องเอ่ยถึงเรื่องนี้ด้วยท่าทีปิดลับระมัดระวัง แต่กระแสความสำนึกผิดเริ่มค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

7 ธันวาคม 1970 วิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมันตะวันตก คุกเข่าขอโทษชาวโปแลนด์และเหยื่อกว่า 6 ล้านชีวิต หน้าอนุสาวรีย์วีรชนชาวโปแลนด์ต่อต้านนาซี ณ กรุงวอร์ซอ เป็นการขอโทษที่ถูกจดจำและทรงความหมายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ชาวเยอรมันเผชิญหน้าและจดจำประวัติศาสตร์ช่วงนั้น เด็กๆ ได้เรียนว่าประเทศของตนเคยมีรอยแผลด่างพร้อย พวกเขาไม่เคยกลบเกลื่อน หรือพยายามทำให้ลืม พวกเขาไม่ได้ขุดคุ้ยอดีตเพื่อสะสมปมด้อย แต่พวกเขาเรียนรู้ จดจำ ยอมรับบาดแผลทางประวัติศาสตร์ เพื่อเตือนตนเองว่าจะไม่ยอมให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก

ปัจจุบัน ภายในมหาวิทยาลัยแห่งมิวนิค มีลานจัตุรัสใกล้กับอาคารศูนย์กลางตั้งชื่อว่า ‘จัตุรัสสองพี่น้องโชล’ (Geschwister-Scholl-Platz) โรงเรียนกว่า 190 แห่งในเยอรมันใช้ชื่อโซฟี โชล การไปรษณีย์แห่งชาติของทั้งเยอรมันตะวันออกและตะวันตก ออกดวงตราไปรษณียากรเป็นเกียรติแก่โซฟี โชล และ ฮันส์ โชล หลายวาระ

ฮิตเลอร์ สัญลักษณ์สวัสดิกะ เครื่องแบบนาซี มีสถานะไม่ต่างจากรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ สร้างความสะเทือนใจให้ชาวเยอรมันและชาวโลกตราบกระทั่งวันนี้

© WAY MAGAZINE. All rights reserved