‘ตาสว่าง’ สภาวะเบิกเนตรในโลกมืด

‘ตาสว่าง’ สภาวะเบิกเนตรในโลกมืด

ผมเหมือนตาบอดอยู่นานหลายปี เพราะแสงไฟเจิดจ้าของกรุงเทพฯ เพราะตึกติดผนังกระจก เพราะจอพลาสมา

ครั้นตาบอดจริงๆ ถึงได้รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ข้างใน และเข้าใจว่าผมเป็นเบี้ยในกระดาน ในเกมการแข่งขันที่ใหญ่กว่าผม

 

หนังสือนวนิยายภาพที่ชื่อว่า ‘ตาสว่าง’ ใช้ข้อมูลส่วนหนึ่งจากการค้นคว้าของ คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti) นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มานำเสนอใหม่ เขาใช้เวลาหลายปีในการศึกษาการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองไทยในยุคสีเสื้อ (2006-2014) จนปรากฏออกมาเป็นงานเลื่องชื่อ 

อาทิ Red Journeys: Inside the Thai Red-Shirt Movement ซึ่งบันทึกการต่อสู้ในแต่ละคืนวันของคนเสื้อแดงระหว่างการถูกล้อมปราบในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2010 และงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นคือ Owners of the Map: Motorcycle Taxi Drivers, Mobility and Politics in Bangkok ว่าด้วยชีวิตและความปรารถนาทางการเมืองของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ‘ตาสว่าง’ ยังเป็นการทำงานร่วมกับ เคียรา นาตาลุชชี (Chiara Natalucci) ซึ่งจบการศึกษาทางด้านภาษาและวรรณกรรมรัสเซีย ปัจจุบันทำงานเป็นนักแปล โดยเชี่ยวชาญการแปลจากภาษารัสเซียและภาษาอังกฤษเป็นภาษาอิตาลี

โดยอาศัยภาพประกอบที่เล่นสีคู่ตรงข้ามอันสวยงามฉลาดล้ำของ ซารา ฟับบรี (Sara Fabbri) นักออกแบบกราฟิก นักวาดการ์ตูนและภาพประกอบ บรรณาธิการศิลปกรรมของ linus นิตยสารการ์ตูนรายเดือนที่มีชื่อเสียงของอิตาลี

ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อฉายภาพ ‘ตาสว่าง’ อันสร้างจากเรื่องราวของ ‘นก’ หนุ่มอุดรธานี ซึ่งเกิดและเติบโตในสังคมไทยยุคหลังสงครามเย็น (1980’s) ก่อนจะกลายเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เดินไต่เส้นความปรารถนา

เช่นเดียวกับหนุ่มอีสานทั่วไปที่เมื่อเริ่มแตกหนุ่ม การเดินทางไปแสวงหารายได้จากแดนไกลก็เป็นเรื่องธรรมดา หนังสือภาพเล่มนี้จูงมือผู้อ่านไปทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชีวิตนกและผู้คนรายรอบตัวนก โดยมีฉากหลังเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองที่รวดเร็ว ตลอดทศวรรษที่ 1980-2010

สถานีรถไฟหัวลำโพง โรงงานเย็บรองเท้า พระบรมมหาราชวัง ห้องเช่าขนาดกว้างแค่คืบ เกาะพะงัน ไซต์งานก่อสร้าง ฯลฯ เหล่านี้ คือสถานที่ที่เกี่ยวร้อยเอาความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นของนกกลับไปฝากครอบครัวที่อุดรธานี

ในวัยฉกรรจ์ที่สุดของชีวิตของนก ความปรารถนาต่างๆ ต้องเบรคไว้ก่อน นกต้องเข้าเกณฑ์ทหารเช่นเดียวกับชายไทยอีกหลายแสนคน ในยุคเศรษฐกิจและการลงทุนเบ่งบาน นกเป็นกำลังแรงงานเหมือนมดงานตัวหนึ่ง ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงิน ชีวิตค่าจ้างรายวัน 50 บาท 100 บาท 150 บาท ถูกปั่นให้เร็วขึ้นภายใต้เงินทุนต่างชาติที่เทลงมาราวกับดอกเห็ดยามหน้าฝน 

ชีวิตของนกและพี่น้องผองเพื่อน ถูกกระตุ้นให้ร่างกายทำงานให้ยาวขึ้น ด้วยการที่นายจ้างเติม ‘ยาขยัน’ ให้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเพลงอย่าง ‘ซาอุดร’ ของคาราบาวประกอบฉาก

ในวันที่ไทยหวังจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย นกยังคงเดินทางและเผชิญปัญหาชีวิตไม่น้อย ภายใต้แรงขับดันจากความคาดหวังต่อตัวเอง อาจจะเป็นเพราะนกเติบโตมาในสังคม masculine ซึ่งผู้ชายอีสานเชื่อว่าจะต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการหารายได้ไปจุนเจือครอบครัวให้ดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ถึงที่สุดชีวิตครอบครัวนกก็แหว่งวิ่นจากการวิ่งไล่งับความฝันเหล่านั้นในแดนไกล พร้อมๆ กับไฟที่มืดดับลงจากการพังครืนลงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในวิกฤติต้มยำกุ้ง (1997)

พลังการต่อสู้ใหม่

นกกลับไปเลียแผลด้วยการกลับไปทำนาที่บ้าน ก่อนจะย้ายมาปักหลักในเมืองหลวงด้วยการขับวินมอเตอร์ไซค์ หอบหิ้วเอาเมียและลูกเล็กมาอาศัยในซอกหลืบเล็กๆ ของมหานคร ขณะเมียซึ่งเป็นแม่บ้านก็ทำงานบ้านให้เศรษฐีตั้งแต่ ซักผ้า ตัดหญ้า ล้างจาน ทำความสะอาด ล้างรถ ไปจนกระทั่งทำอาหารให้นายจ้างกิน

แต่ชีวิตของนกก็ยังเผชิญกับการถูกเอารัดเอาเปรียบไม่เปลี่ยนไปจากภาพแรกที่หัวลำโพง ภาพของมาเฟียและตำรวจรีดไถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่หารายได้ มีข้าวแกงหม้อเย็นชืดเป็นสิ่งที่พบได้ในชีวิตประจำวัน

ไม่นานไฟก็สว่างขึ้น นักการเมืองอย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ปรากฏตัว พร้อมคำมั่นสัญญาผ่านทีวีที่คนอย่างนกและเมียเขาไม่เคยได้ยินมาก่อน

“ผู้บริหารหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะได้เป็นหุ้นส่วนของประเทศไทย”

นี่จึงเป็นที่มาให้กับการรวมกลุ่มของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเมืองหลวง ร่วมกันต่อรองด้วยการเดินเข้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องคำมั่นจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในกลางทศวรรษที่ 2000 ว่าจะล้างบางมาเฟียและตำรวจที่รีดไถประชาชนให้สิ้นสุด

นับจากนั้น ชีวิตของนกและเพื่อนในซอกตึกของเมืองใหญ่ก็ถูกยกระดับขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ในช่วงเวลาเช่นนี้นกและเพื่อนกลายเป็นพลังทางการเมืองที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป

แน่นอนการรัฐประหารที่ปรากฏขึ้นในปี 2006 และการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง ถือเป็นภาพสวนทางกับความปรารถนาของนกและเพื่อน นกหันมาสวมเสื้อแดงป่าวประกาศศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เท่ากัน ขณะที่ลูกชายของเขาก็เข้าร่วมการต่อสู้บนหน้าประวัติศาสตร์กับคนเสื้อแดงระหว่างปี 2008-2010 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมยืดเยื้อจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงใจกลางการค้าของประเทศอย่างราชประสงค์

แต่ข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งของคนเสื้อแดงก็ถูกปฏิเสธ พวกเขาได้รับการตอบรับข้อเรียกร้องด้วยการถูกปราบด้วยกระสุนจริงแทน

ความตายของผู้ชุมนุมรายวันดำเนินไป โดยเริ่มจากการตายของ เสธฯแดง พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล และเดินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงคิวของนก 

เขาถูกยิงขณะที่กำลังกลิ้งยางรถไปเผาให้เกิดควัน ป้องปรามไม่ให้ปืนสไนเปอร์ยิงเพื่อนๆ ที่ร่วมชุมนุม

นับจากนั้นโลกของนกก็มืดลงอีกครั้ง แต่นั่นก็นำมาสู่ภาวะตาสว่างของเขาเองด้วย เมื่อการต่อสู้ครั้งนั้นจบลงด้วยความสูญเสียชีวิตของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ 

วันตาสว่าง

เมื่อดวงตาของนกมืดบอดลง แต่นั่นก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการตาสว่างครั้งแรก หนังสือเล่มนี้ยังฉายให้เห็นว่ามีสภาวะการตาสว่างครั้งที่สองของนก ที่ผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านเรื่องราวที่แสนจริงเหนือนิยายของชีวิตคนคนหนึ่งได้ 

ด้วยโครงเรื่องที่แข็งแรงผ่านการค้นคว้าด้วยแนวทางมนุษยวิทยาก็ทำให้ชีวิตอันยาวนานของนกเต็มไปด้วยสีสัน ภาพประกอบที่สวมมุมมองจริงลงไปในเนื้อหาก็ทำให้เห็นบรรยากาศของบ้านเมืองและโลกทัศน์ของตัวละครแจ่มชัดด้วย

อย่างไรก็ตามเราอาจจะต้องตระหนักด้วยว่า สภาวะ ‘ตาสว่าง’ ที่หนังสือภาพเล่มนี้นำเสนอ ก็อาจจะมีมุมมองที่ต่างออกไปจากงานวิชาการอื่นที่มองว่าภาวะตาสว่างของเสื้อแดงเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 13 ตุลาคม 2551 หรือมองว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือวันตาสว่างครั้งแรก

ถึงกระนั้นภาวะตาสว่างในหนังสือเล่มนี้นำเสนอ ก็ทำให้นึกถึงภาวะตาสว่างในการศึกษาของ เซอร์ฮัด อูนาลดี (Serhat Ünaldi) นักทฤษฎีสังคมการเมือง ซึ่งชี้ให้เห็นลักษณะของการประจักษ์แจ้งต่อโลกเดิมด้วยภาพใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการต่อสู้อันยาวนานของคนเสื้อแดง อูนาลดีเห็นว่าภาวะตาสว่างของคนเสื้อแดงเกิดขึ้นหลังจากที่คนเสื้อแดงเริ่มขยับมาปักหลักชุมนุมที่ราชประสงค์

ที่ราชประสงค์แห่งนั้นแม้จะอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน แต่ภาพแทนของคนเสื้อแดงต่อชนชั้นกลางไทยคือเป็นผู้บุกรุก (intruder) ย่านใจกลางของระบบทุนนิยมไทยที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำ การถูกปราบปรามครั้งนั้นทำให้สภาวะ ‘ตาสว่าง’ บังเกิดขึ้น ซึ่งหมายถึง ศักยภาพที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ และตระหนักรู้เงื่อนไขที่คนเสื้อแดงถูกบดบังเอาไว้มาเป็นเวลานานแสนนาน[1]


[1] Serhat Ünaldi, Working towards the Monarchy: The Politics of Space in Downtown Bangkok (Hawaii: University of Hawaii Press, 2016, 56.

 

ตาสว่าง
เขียน: คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ, เคียรา นาตาลุชชี, 
ซารา ฟับบรี

แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี

 

author

Random books